ลืมรหัสผ่าน
 สมัครสมาชิก
ค้นหา

เด็กทารก เด็กแรกเกิด อยู่ร่วมกับ สัตว์เลี้ยงได้มั้ย ? วิธีทำให้สุนัขคุ้นเคยกับเด็ก

[คัดลอกลิงก์]
เสื้อหมา เสื้อแมว รถเข็นหมา รถเข็นแมว

สำหรับคนรักสัตว์เลี้ยง เช่น น้องหมา น้องแมว กับหลากหลายคำถามเกี่ยวกับ การเลี้ยงสัตว์ กับ การมีเด็กเล็กๆ เด็กทารก เด็กอ่อน เพิ่งเกิด หรือเด็กกำลังโต เลี้ยงด้วยกันได้ไหม มีอันตรายไหม จะติดเชื้อโรค เป็นโรค หรืออันตรายไหม วันนี้นำบทความ ดีดีมาให้อ่าน สำหรับคนที่ต้องการคำตอบกับเรื่องเหล่านี้
    

เตรียมตัวเตรียมใจให้สัตว์เลี้ยง เมื่อคุณแม่กำลังจะมีน้อง
บทความโดย chantima khemjinda (ร้านคิดส์ดี www.kidsd.net)

สำหรับคุณแม่ที่กำลังจะมี"ลูกคนแรก"เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันที่บ้านก็มีสมาชิกเก่าคือเจ้าตูบผู้อยู่มาก่อน แน่นอนว่าตัวคุณเองตระหนักถึงภาระหน้าที่ของคุณแม่ลูกอ่อนเป็นอย่างดีว่าต้องจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้สำหรับเด็กอ่อน เปิดตำรับตำราเพื่อศึกษาถึงวิธีเลี้ยงลูก แต่คุณอาจกำลังลืมไปว่าเจ้าตูบผู้เป็นเสมือนลูกคนแรกของคุณยังไม่ระแคะระคายว่าภาระหน้าที่ของคุณแม่ลูกอ่อนจะขโมยเวลาแห่งความสุขที่เขาเคยได้รับจากคุณ การเตรียมตัวเตรียมใจให้กับสัตว์เลี้ยงเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณแม่มือใหม่มักมองข้ามไป

สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัข มีความฉลาดแสนรู้ มีความรู้สึกนึกคิด แสดงออกถึงความรัก โกรธ และอิจฉาไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ จะว่าไปสัตว์เลี้ยงของคุณก็อยู่ในสถานะที่ไม่ต่างอะไรกับการเป็นลูกคนโต จู่ ๆ คุณแม่ก็พาน้องที่เป็นเด็กทารกที่เปรียบเสมือนคนแปลกหน้าสำหรับเขาเข้ามาในบ้าน ประคบประหงบ ดูแลเอาใจใส่เจ้าทารกน้อยคนนี้ทั้งวันทั้งคืน ไม่มีเวลาให้กับพี่ชายคนโตสี่ขาอย่างเขา ไม่ยอมให้เข้าใกล้กระโดดเลียแก้มเหมือนเคย เล่นกับเขาน้อยลง จะแอบดอดเข้าไปใกล้เพื่อทำความรู้จักสมาชิกใหม่ก็โดนดุให้ออกห่าง โดนกักบริเวณไม่ให้เข้าถึงในพื้นที่ ๆ เคยได้รับอิสระ แล้วอย่างงี้จะไม่ให้ลูกคนโตสับสน น้อยใจ เกิดอาการเครียด หรือถึงขึ้นตรอมใจได้อย่างไร คุณคงไม่อยากให้เจ้าตูบแสนรักของคุณรู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในสถานะ"หมาหัวเน่า"


สำหรับคิดส์ดี-มีสาระ บทความนี้มีคำแนะนำสำหรับคุณแม่ที่กำลังจะมีน้องคนแรก และที่บ้านมีสัตว์เลี้ยง(สุนัข)เป็นสมาชิกสี่ขาผู้อยู่มาก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสัตว์เลี้ยงรับมือกับการมีเด็กทารกตัวน้อย ๆ เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้านอีกคน ลองติดตามอ่านดูนะครับ

    

การเตรียมตัวและเตรียมใจให้สัตว์เลี้ยงในช่วงก่อนคลอด

1. มอบภาระหน้าที่ในการเป็นผู้เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงให้กับสมาชิกท่านอื่นในบ้าน สถานะ "คุณแม่ลูกอ่อน" ที่ต้องทุ่มเทเวลาหมดไปกับการเลี้ยงดูเด็กทารกตัวน้อยซึ่งต้องการการดูแลเอาใจใส่แทบจะตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นภาระหน้าที่ที่เคยต้องเป็นผู้ดูแลเอาใจใส่ ใช้เวลาส่วนใหญ่คลุกคลีอยู่ด้วยกันกับสัตว์เลี้ยง ภาระหน้าที่นี้จำเป็นต้องมอบหมายให้กับสมาชิกคนอื่นในบ้านเป็นผู้ดูแลแทน เพื่อไม่ให้สุนัขเกิดความเครียดจากการขาดการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของ
สำหรับการมอบหมายหน้าที่ ในช่วงเริ่มต้นสามารถทำได้โดยการลดช่วงเวลาที่คุณแม่เคยใช้ทำกิจกรรมร่วมกันกับสุนัขให้น้อยลง เช่นการพาสุนัขออกไปเดินเล่น ให้อาหาร หรือใช้เวลาอยู่ร่วมกัน โดยค่อย ๆ ลดเวลาลงอาจจะเริ่มจากวันละ 20 นาที เพื่อให้สัตว์เลี้ยง ค่อย ๆ ปรับตัวในการใช้เวลาอยู่กับผู้เลี้ยงคนใหม่ แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มเวลามากขึ้น ๆ (คุณแม่ก็ค่อย ๆ ลดเวลาที่คลุกคลีอยู่กับสัตว์เลี้ยงให้น้อยลง ๆ) จนสุนัขเริ่มคุ้นเคยและสามารถใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับผู้เลี้ยงคนใหม่ได้ สำหรับผู้ที่จะมารับหน้าที่แทนควรเป็นสมาชิกในบ้านคนที่สุนัขสนิทสนมรองลงมาจากเจ้าของ

2.พาสุนัขไปทำหมัน การทำหมันสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงจะเป็นการช่วยลดสัญชาติญานทางเพศที่คอยขับเคลื่อนพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ดุร้าย หรือแม้แต่พฤติกรรมที่ชอบกัดสมาชิกในบ้านลงได้ ซึ่งปัจจุบันสัตว์เลี้ยงทุกตัวก็จะได้รับคำแนะนำจากสัตว์แพทย์ให้ต้องพาไปทำหมันเมื่อถึงช่วงอายุที่เหมาะสม (สุนัขจะประมาณอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป)

3.ปรับพฤติกรรม สุนัขก็ไม่ต่างกับคน
พฤติกรรมไม่ดีทั้งหลายไม่ว่าจะเกิดจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงหรือเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น การกระโจนเข้าหาเจ้าของขณะที่ดีใจ(ซึ่งอาจะทำให้เกิดอันตรายทั้งกับแม่และเด็กในขณะที่อุ้มลูก โดยเฉพาะกับสุนัขตัวโต ) หรือการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ก้าวร้าว เช่นการเห่าหรือกัดสมาชิกในบ้านซึ่งไม่ใช่คนแปลกหน้า พฤติกรรมเหล่านี้สามารถปรับลดหรือควบคุมได้ โดยการปรับพฤติกรรมด้วยการฝึกให้สุนัขอยู่ในอาการสงบนิ่งเชื่อฟังคำสั่ง ซึ่งทำได้โดยการนำสุนัขไปเข้าคอร์ดฝึกเพื่อเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเรียนรู้ในการเชื่อฟังคำสั่ง

4.ตัดเล็บสัตว์เลี้ยง ควรตัดเล็บสัตว์เลี้ยงให้สั้นเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดจากการบาดเจ็บ
ในขณะที่สุนัขกระโจนแสดงความดีใจหรือเข้ามาเล่นคลุกคลีกับเด็ก

5.สร้างความคุ้นเคยให้กับสัตว์เลี้ยง เราสามารถสร้างความคุ้นเคยกับเด็กทารกในเบื้องต้นให้กับสุนัขได้ โดยการจำลองกิจกรรมการเลี้ยงดูเด็กอ่อน เช่น

5.1 สร้างความคุ้นเคยกับเสียงเด็กร้อง โดยการเปิดเสียงร้องของเด็กทารก แบบค่อย ๆ เริ่มเปิดเสียงจากเบา ๆ แล้วค่อย ๆ ปรับเสียงดังขึ้น ๆ แล้วสังเกตุปฏิกิริยาของสุนัข ถ้าสุนัขมีการตอบสนองในทางที่ไม่ดีหรือไม่ชอบเสียง เช่นอาการตกใจกลัว หรือเห่าไม่หยุด ก็ให้หรี่วอลลุ่มลงหรือปิดเสียงไปเลยแล้วนำมาเปิดในวันใหม่ โดยเริ่มจากเสียงที่หรี่เบาและค่อย ๆ ปรับขึ้นทีละนิด ๆ ทำอย่างนี้จนสุนัขเริ่มคุ้นเคยกับเสียงร้องของเด็กทารก ไม่แสดงอาการเห่า หรือตกใจกลัว ข้อควรระวังเมื่อสุนัขแสดงอาการไม่ชอบเสียงร้อง ห้ามดุหรือเอ็ดเพราะจะทำให้สุนัขเกิดทัศนคติในเชิงลบต่อเสียงร้องของเด็กทารก

5.2 จำลองการเลี้ยงเด็กทารกโดยใช้ตุ๊กตา
เราสามารถจำลองกิจกรรมการเลี้ยงเด็กทารกได้โดยการหาตุ๊กตาที่มีขนาดใกล้เคียงกับทารกไซส์แรกเกิด แล้วนำมาพันด้วยผ้าขนหนูหรือผ้าห่อตัวเด็กเหมือนการห่อตัวเด็กอ่อนจริง ๆ แล้วทำกิจกรรรมเลียนแบบการเลี้ยงเด็กทารกจริง ๆ เช่นการพาเดินอุ้มไปรอบ ๆ บ้าน พร้อม ๆ กับเรียกชื่อลูก(ที่ตั้งไว้แล้ว) การอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือแม้กระทั่งพาใส่รถเข็นเดินเล่นไปพร้อม ๆ กับสุนัข สำหรับข้อพึงระวังเมื่อสุนัขแสดงอาการไม่ชอบในพฤติกรรมใด ๆ ในการเลี้ยงเด็กทารกของเรา "ห้ามดุหรือเอ็ดให้สุนัขกลัว" เพราะจะทำให้สุนัขจำเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมณ.ช่วงเวลานั้น พาลให้ไม่ชอบเหตุการณ์หรือสภาพแวดล้อมในลักษณะคล้าย ๆ กัน ในทางกลับกันควรมีขนมหรือของกินเป็นการให้รางวัลไปด้วยในขณะที่ทำกิจกรรมจำลองการเลี้ยงเด็กทารก เพื่อให้สุนัขเกิดความพึงพอใจในกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกัน

5.3 พาเด็กเล็ก ๆ มาเยี่ยมบ้าน
สำหรับบ้านที่ไม่มีสมาชิกลูกหรือหลานเป็นเด็กเล็ก การให้ญาติ ๆ หรือเพื่อน ๆ พาเด็ก ๆ มาเที่ยวเล่นที่บ้านก็มีส่วนช่วยสร้างความคุ้นเคยให้กับสุนัขแม้จะไม่เหมือนกับเด็กทารกจริง ๆ แต่การมีเด็กตัวเล็ก ๆ มาวิ่งเล่น ได้ยินเสียงแหลมเล็กของเด็ก ๆ ที่แปลกไปจากเสียงผู้ใหญ่ก็จะช่วยให้เราสังเกตุพฤติกรรมและปฏิกิริยาของสุนัขที่มีต่อเด็กเล็ก ๆ ได้ว่าแสดงออกในทางเป็นมิตรหรือไม่ต้อนรับเพื่อเตรียมรับมือ ทั้งนี้ต้องเป็นสุนัขที่ไม่มีพฤติกรรมดุร้ายหรือกัดคนแปลกหน้า คราวหน้าจะมาต่อตอนที่ 2 นะครับ สำหรับการเตรียมพร้อมสัตว์เลี้ยงในการ"ต้อนรับสมาชิกตัวน้อยเข้าบ้าน"


    


เด็กทารกและสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมกันได้มั้ย?
บทความจาก th.theasianparent.com

สัตว์เลี้ยงจะทำร้ายลูกฉันมั้ย?

ไม่มีอะไรต้องกังวลสักนิดเลยค่ะ นอกจากว่าสัตว์เลี้ยงของคุณจะก้าวร้าว ดุร้าย หรือเป็นประเภทหวงอาณาเขตอย่างรุนแรง สุนัขส่วนใหญ่จะเป็นมิตรกับเด็กทารก ในขณะที่แมวก็มีนิสัยเชื่องโดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่สัตว์เลี้ยงของคุณจะทำร้ายลูกของคุณ ต่อให้ลูกน้อยของคุณป่วนหรือลงไม้ลงมือกับสัตว์เลี้ยงของคุณ มันก็จะไม่จู่โจมตอบ ส่วนใหญ่ก็มักจะเดินหนีไปจากเจ้าตัวน้อยจอมป่วน

ขนสัตว์จะทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้มั้ย?

ตามทฤษฎีแล้ว ขนสัตว์ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ แต่เป็นสิ่งที่ติดอยู่ในขนต่างหากที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ ดังนั้นการรักษาให้สัตว์เลี้ยงสะอาดอยู่เสมอจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดภูมิแพ้ได้

อย่างไรก็ตาม คุณควรจำไว้ว่าผู้ปกครองที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้วไม่ว่าประเภทใดก็ตาม จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ได้มากขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ชนิดเดียวกันหรือคนละชนิด

ยังมีหลักฐานทางวิทยศาสตร์ซึ่งบ่งชี้ว่าการที่เด็กอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยลดโอกาสการเกิดอาการที่เกี่ยวเนื่องกับภูมิแพ้ เช่น หอบหืด ได้ คล้ายกับว่าเด็กจะสามารถปรับตัวเข้ากับขนสัตว์ (และสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ในขนที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้) ได้ และทำให้มีภูมิป้องกันตั้งแต่ต้น

สัตว์เลี้ยงจะอิจฉาเด็กมั้ย?


นอกจากว่าสัตว์เลี้ยงของคุณจะเป็นประเภทไม่ค่อยสนใจอะไรอยู่แล้ว สัตว์ส่วนใหญ่จะรู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้งเมื่อมีสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ในบ้าน มันอาจจะรู้สึกหงุดหงิด กินน้อยลง และอาจถึงขั้นตีตัวออกห่างจากมนุษย์

แม้ว่าคุณอาจรู้สึกว่าต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับเจ้าตัวเล็ก คุณควรจะหาเวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงของคุณเพียงลำพังในแต่ละวันบ้าง พูดให้เห็นภาพคือ เราควรให้เวลากับสัตว์เลี้ยงเหมือนกับมันเป็นพี่คนโตของเจ้าตัวเล็ก


จะเตรียมตัวสัตว์เลี้ยงอย่างไรให้พร้อมรับเจ้าตัวน้อย?


ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่เชื่อว่าสุนัขหรือแมวของคุณเข้าใจภาษามนุษย์ได้ พยายามเล่าให้มันฟังเกี่ยวกับสมาชิกใหม่ที่กำลังจะเข้ามาอยู่ในบ้าน ประหนึ่งว่ามันเป็นลูกคนโตของคุณ สัตว์เลี้ยงมักทำหน้าที่เหมือนพี่คนโต เช่น เล่นกับเจ้าตัวเล็ก หรือคอยดูแลเด็กเวลาที่คุณไม่ได้เฝ้า การเตรียมตัวให้สัตว์เลี้ยงของคุณพร้อมสำหรับสมาชิกใหม่จึงถือเป็นสิ่งจำเป็น

เราแนะนำให้คุณเตรียมจัดห้องไว้ให้เจ้าตัวเล็กล่วงหน้า เพื่อให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงภายในบ้าน ถ้าคุณอยากให้สัตว์เลี้ยงอยู่ห่างจากเปล หรือห้องลูก นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะฝึกให้มันรู้จักอาณาเขตใหม่

อาจจะฟังดูประหลาดสำหรับบางคน แต่เป็นความคิดที่ดีที่จะให้สัตว์เลี้ยงได้ทำความคุ้นเคยกับเด็กก่อนที่คุณจะคลอด สัตว์มีประสาทสัมผัสไวกว่ามนุษย์หลายเท่า ดังนั้นเสียงเด็กทารกกรีดร้องอาจจะมากมายเกินกว่าหูอันอ่อนไหวของพวกมันจะรับไหว การฝึกให้มันคุ้นเคยกับเสียงจะช่วยให้มันสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น


เด็กทารกและสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

หลายครอบครัวสามารถเลี้ยงลูกโดยมีสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมชายคาได้อย่างมีความสุข อันที่จริงสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่มักสามารถปรับตัวเข้ากับสมาชิกตัวน้อยได้เป็นอย่างดี และเกิดความผูกพันระหว่างคนกับสัตว์ สัตว์เลี้ยงของคุณจะกลายเป็นเพื่อนเล่นที่ดีที่สุดของลูก และความสัมพันธ์นี้จะช่วยปลูกฝังนิสัยรักสัตว์ให้กับเด็กอีกด้วย

ลูกชายของฉันชอบเล่นกับแมวของเรามาก กระทั่งยอมให้มันไปนอนด้วยบนเตียง ปัจจุบันเขาอายุ 20 เดือนแล้ว และไม่เคยมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ด้วยสาเหตุจากสัตว์เลี้ยง ฉันคิดว่าเขาไม่น่าจะมีปัญหากับขนสัตว์อีก


    

3 ข้อคิดก่อนตัดสินใจมีสัตว์เลี้ยงเมื่อลูกยังเป็นเด็กทารก
บทความจาก www.babytrick.com

การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข หรือ แมว ในช่วงที่ลูกของเรายังเป็นวัยทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบปีแรกนั้น จะต้องคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เราจะเอาใจใส่ให้กับสัตว์เลี้ยง, ความเหมาะสมของสัตว์เลี้ยงที่จะนำเข้ามาร่วมในครอบครัว รวมถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างสัตว์เลี้ยงกับลูกของเรา ดังนั้นก่อนที่คุณจะนำสัตว์เลี้ยงใดๆ เข้ามาอยู่ร่วมในครอบครัวซึ่งมีเด็กอ่อน หรือเด็กทารกอยู่ด้วยนั้น ต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักที่สำคัญดังนี้


1. คุณสามารถแบ่งมาให้กับสัตว์เลี้ยงของคุณมากแค่ไหน
ปัจจัยเรื่องเวลาถือเป็นสิ่งสำคัญมากของผู้ที่คิดจะมีสัตว์เลี้ยง ยิ่งคุณต้องทำงานนอกบ้าน, ทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ รวมถึงยังต้องดูแลลูกซึ่งหากลูกของคุณเเพิ่งจะออกมาดูโลกด้วยแล้ว เวลาเกือบทั้งหมดของคุณมักจะต้องทุ่มเทให้กับลูกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ลูกนอน ตอนลูกตื่น สิ่งเหล่านี้จะดึงเวลาของคุณไปเกือบทั้งหมดของวัน นี่ยังไม่รวมเวลาพักผ่อนส่วนตัวของคุณเองและคนรักที่จะต้องมีให้กันและกันด้วย

หากคุณมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการเวลา และแบ่งเวลามาดูแลอีกหนึ่งชีวิตอย่างเจ้าสัตว์เลี้ยงแสนรักของคุณได้แล้วละก็ ประเด็นนี้ก็ผ่านไปด้วยดี แต่หากคุณลองคิดแล้วเห็นว่า คุณคงไม่มีเวลามาเล่นกับมัน ให้อาหาร พูดคุย หรือพามันไปเดินเล่น ขอแนะนำว่าคุณอย่าเพิ่งนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาร่วมในครอบครัวของคุณจะดีกว่า เพราะสัตว์เลี้ยงทุกชนิดต่างก็ต้องการความรัก ความเอาใจใส่จากเจ้าของเช่นกัน

2. สัตว์เลี้ยงของคุณเหมาะกับวัยของลูกของคุณหรือเปล่า
เด็กทารกแรกเกิดกับเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปี ร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันไม่เท่ากัน ความแข็งแรง และความสนใจต่อโลกภายนอกก็ไม่เท่ากัน รวมถึงการสื่อสาร การช่วยเหลือตัวเองจากสิ่งรบกวนก็ไม่เท่ากัน หลายครั้งจึงเกิดเหตุการณ์ที่สัตว์เลี้ยงบางประเภททำร้ายเด็กในบ้าน ความผิดไม่ได้เกิดจากสัตว์เลี้ยงแต่อย่างใด แต่สาเหตุที่สัตว์เลี้ยงทำร้ายเด็กเล็กภายในบ้านนั้น เกิดจากสัญชาติญาณของสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดที่อาจจะเกิดความรำคาญ หรือโกรธจากสิ่งเร้าที่ลูกของเราไปทำกับเขาไว้นั้นเอง

ยกตัวอย่างเช่น สุนัข ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมในบ้าน หลายครอบครัวนั้นคิดว่าสุนัขที่เราเลี้ยงมาตั้งแต่ตัวเล็กๆ มันคงไม่ทำร้ายลูกของเราเด็ดขาด แต่หารู้ไม่ว่า สุนัขที่เหมาะกับบ้านที่มีเด็กเล็กหรือเด็กอ่อนนั้นมีไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้น บางสายพันธุ์ไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงเมื่อในบ้านเมื่อเรามีเด็กอ่อนหรือลูกยังอยู่ในวัยทารกแรกเกิด เพราะสุนัขบางสายพันธุ์เป็นพวกที่มีความอดทนต่อสิ่งเร้าภายนอกต่ำ นอกจากนั้นสุนัขบางสายพันธุ์เป็นพวกชอบเห่า ชอบหอน จะทำให้ลูกของเราที่ยังนอนหลับไม่เป็นเวลาต้องตื่นนอนเพราะสิ่งเห่าหอนของพวกมัน

นอกจากนั้นหากผู้เลี้ยงไม่ใส่ใจในตัวสัตว์เลี้ยงให้มาก มันก็อาจจะเป็นพาหะนำพาเชื้อโรคต่างๆ เข้ามาในบ้าน และอาจจะมาถึงตัวลูกของเราได้ง่ายๆ เช่นกัน

สำหรับสุนัขที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่า น่าจะเหมาะสำหรับบ้านที่มีเด็กๆ (แต่ไม่ได้ออกมาแนะนำแบบฟันธงว่ามันเหมาะสำหรับบ้านที่มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปีนะค่ะ) ได้แก่ สุนัขพันธุ์บีเกิ้ล (Beagle), โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever), พุดเดิ้ล (Poodle) และ ลาบาดอล (Labrador) แต่ไม่ว่าจะเป็นสุนัขสายพันธุ์ไหนก็ตาม ต้องแน่ใจว่ามันถูกฝึกให้เชืองและฟังคำสั่งของคนในบ้านแล้ว

3. บทบาทของคุณและลูกของคุณกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก
พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกได้เติบโตมาพร้อมๆ กับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้เขามีนิสัยที่อ่อนโยน มีระเบียบวินัยและรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น นี่ก็เป็นข้อดีหากเราเลี้ยงลูกของเราและฝึกให้ลูกของเราเอาใจใส่และมีความรักกับสัตว์เลี้ยงของเรา แต่หากคุณเองไม่สามารถสอนหรือแนะนำลูกว่าต้องวางตัวอย่างไร ต้องปฏิบัติตัวเองอย่างไร และมีหน้าที่อย่างไรกับสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน สิ่งที่คุณวาดหวังว่าลูกของคุณจะเติบโตมาพร้อมกับสัตว์เลี้ยงที่น่ารักคงต้องเป็นแค่ความเพ้อฝันเท่านั้น

    

การจะมอบหมายให้ลูกรู้จักมอบความรัก และอ่อนโยนต่อสัตว์เลี้ยง คุณในฐานะพ่อและแม่ ต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน เพราะเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึง 6 ขวบปีแรก เด็กจะมองพฤติกรรมของพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเป็นตัวอย่าง หากพ่อแม่มีความอ่อนโยน มอบความรักให้กับสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน เด็กก็จะซึมซับสิ่งเหล่านี้ตามไปด้วย และจิตใจของเขาก็จะอ่อนโยน รู้จักมอบความรักให้คนอื่นเช่นกัน

ทั้งนี้การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านที่มีเด็กอ่อนหรือเด็กในวัยแรกเกิดถึง 6 ปีแรก อาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของคนในบ้านเป็นสิ่งสำคัญ หากครอบครัวไหนสามารถปรับตัวได้ แบ่งเวลาได้ชัดเจน การมีสัตว์เลี้ยงร่วมกับเด็กอ่อนก็ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ

CiU5kuFVEAAlr4I.jpg
8a98917ec7cc5777acb2c4389ceafa68.jpg
305b5d330dae8a0367d8062cfccdf26d.jpg
540cf2b1cc8fa533dd293aa97d0764d1.jpg
08705fbc09d58716028c8b069975f6ee.jpg
loading...
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

รายละเอียดเครดิต


โทรศัพท์มือถือ|รายชื่อผู้ถูกระงับบัญชี|dogthailand.net

แนะนำที่พัก โรงแรม รีสอร์ท สัตว์เลี้ยงเข้าพักได้ ทั่วประเทศ

GMT+7, 2024-12-27 08:00 , Processed in 0.087918 second(s), 31 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.8

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้