เมื่อต้องพาสุนัขป่วยไปหาคุณหมอ บางครั้งคุณหมอจะขอตรวจเลือด เพื่อดูว่ามีค่าโลหิตวิทยาเป็นอย่างไร คุณหมอจะใช้การตรวจดูค่าความสมบูรณ์ของเลือด หรือ Complete Blood Count (CBC) ซึ่งเป็นการตรวจที่ง่าย ราคาไม่แพง และได้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ใช้ประเมินสภาพร่างกาย ใช้ในการวินิจฉัยแยกโรค หรือใช้ในการเฝ้าติดตามการดำเนินไปของโรคก็ได้
การตรวจค่าความสมบูรณ์ของเลือด เป็นการประเมินจำแนกชนิดและรูปร่างเม็ดเลือดต่าง ๆ รวมถึงตรวจดูส่วนประกอบอื่น ๆ ในเลือดด้วย เช่น ค่าเม็ดเลือดแดง ค่าเม็ดเลือดขาว ค่าเกล็ดเลือด ค่าพลาสมาโปรตีน ค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่น ค่าความเข้มข้นของฮีโมโกลบิน และตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่อาจปนอยู่ในเลือดได้ (เช่น ทริพะโนโซม ไมโครฟิลาเรีย) เป็นต้น เมื่อได้ค่าต่าง ๆ ทั้งหมดออกมาแล้ว คุณหมอก็ต้องนำมาแปลผล เพื่อใช้อธิบายให้กับเจ้าของฟังต่อไป
เลือดของน้องหมาเป็นอย่างไรกันนะ ?
ก่อนที่เพื่อน ๆ จะรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยานั้นส่งผลต่อน้องหมาอย่างไร เรามาทำความเข้าใจความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเลือดของน้องหมากันก่อนครับ เลือดของน้องหมาก็คล้ายกับของคนเรา ประกอบด้วยน้ำเลือดหรือพลาสมา ซึ่งเป็นของเหลว ทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหาร เกลือแร่ ฮอร์โมน แอนติบอดี ฯลฯ ช่วยรักษาความเป็นกรด - เบส สมดุลของน้ำ และอุณหภูมิของร่างกาย ภายในน้ำเลือดยังมีโปรตีนที่สำคัญ ได้แก่ ไฟบริโนเจน อัลบูมิน และโกลบูลิน ถ้านำเลือดไปปั่นเราจะสามารถแยกส่วนของน้ำเลือดออกได้ประมาณ 55 % ของเลือดทั้งหมดครับ
อีกส่วนที่เหลือก็จะเป็นเม็ดเลือดต่าง ๆ ได้แก่ เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ลำเลี้ยงออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย โดยมีฮีโมโกลบินเป็นตัวขนส่ง เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย คอยป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เม็ดเลือดขาวยังจำแนกได้อีกหลายชนิด ตามหน้าที่และภารกิจที่ต่างกัน ได้แก่ นิวโทรฟิล ลิมโฟไซต์ อีโอซิโนฟิล โมโนไซต์ และเบโซฟิล และสุดท้ายก็คือ เกล็ดเลือด ซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดครับ
เมื่อค่าเลือดของน้องหมาเปลี่ยนไป บอกอะไรกับเราบ้าง ?
หลังจากที่คุณหมอเก็บเลือดน้องหมาไปตรวจแล้ว ก็มาถึงเวลาที่เจ้าของหลายคนรอคอย (รอลุ้น) ว่าผลเลือดนั้นจะออกมาเป็นอย่างไร ในการแปลผลเราจะต้องนำค่าเลือดที่ได้ ตลอดจนความผิดปกติต่าง ๆ ที่ตรวจพบ มาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติ ทีนี้...เรามาดูกันสิว่า ค่าเลือดของน้องหมาที่เปลี่ยนไป บอกอะไรกับเราได้บ้าง ตาม มุมหมอหมา มาดูกันไปทีละชนิดกันเลยครับ
เม็ดเลือดแดง
ในการแปลผลเม็ดเลือดแดงคุณหมอจะดูหลาย ๆ อย่างประกอบกัน ทั้งจำนวน ขนาด รูปร่าง การกระจายตัว การติดสี และลักษณะสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ที่พบอยู่ในเม็ดเลือดแดง เช่น พยาธิในเม็ดเลือดชนิดบาบิเซีย ฯลฯ ผลของค่าเม็ดเลือดแดงสามารถใช้บ่งบอกได้ว่า สัตว์เกิดภาวะโลหิตจางหรือเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงมากเกินไป โดยดูจากจำนวนเม็ดเลือดแดง ค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (หรือค่าฮีมาโตคริต) และค่าความเข้มข้นของฮีโมโกลบินประกอบกัน ซึ่งค่าทั้ง 3 นี้สามารถนำมาคำนวณ เพื่อหาดัชนีของเม็ดเลือดแดง (เช่น MCV, MCH, MCHC, RDW) ได้อีก มีประโยชน์ในการจำแนกชนิดของโลหิตจางได้ โดยจะต้องคำนึงถึงภาวะการได้รับน้ำร่วมด้วย นอกจากนี้ยังต้องดูรูปร่างของเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติไปด้วย ใช้บ่งบอกสาเหตุของความผิดปกติและความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ครับ
เม็ดเลือดขาว
การแปลผลเม็ดเลือดขาวคุณหมอจะต้องดูทั้งจำนวนเม็ดเลือดขาวรวม และยังต้องดูแยกจำนวนสัมบูรณ์ของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดด้วย เพราะอย่างที่ได้บอกไปว่าเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดมีหน้าที่และภารกิจแตกต่างกัน จำนวนเม็ดเลือดขาวก็มีการเปลี่ยนแปลง 2 ทางเช่นเดียวกับเม็ดเลือดแดง คือ สูงขึ้นและลดลง โดยสามารถดูแยกตามชนิด ดังนี้
นิวโทรฟิล
มีหน้าที่จับกินและทำลายแบคทีเรีย มีส่วนร่วมในการอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรีย โรคที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกัน และการตายของเนื้อเยื่อ การเพิ่มขึ้นของนิวโทรฟิล บ่งบอกว่า น้องหมาอาจกำลังมีการติดเชื้อ เกิดการอักเสบหรืออักเสบแบบมีหนอง มีการตายของเนื้อเยื่อ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวกลุ่มนิวโทรฟิล ภาวะโลหิตจางจากการแตกทำลายเม็ดเลือดแดงอันเกิดจากภูมิคุ้มกัน ความกลัว ตื่นเต้น เครียด มีการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อยู่ หรือเป็นโรค Cushing's syndrome
ส่วนการลดลงของนิวโทรฟิล อาจเกิดจากมีการใช้มากไปหรือสร้างได้น้อยลง มักพบในรายที่มีการอักเสบแบบเฉียบพลัน ติดเชื้อไวรัส เช่น โรคลำไส้อักเสบติดต่อ โรคไข้หัดสุนัข ฯลฯ ติดเชื้อริกเคตเซีย เช่น Canine ehrlichiosis (โรคพยาธิในเม็ดเลือดชนิดหนึ่ง) ได้รับพิษบางชนิด เช่น พิษจากเอสโตรเจนมีผลในการกดไขกระดูกทำให้สร้างได้น้อยลง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เคมีบำบัด หรือรังสี
อีโอซิโนฟิล
มีหน้าที่ทำลายพยาธิหรือปรสิต ยับยั้งสารเคมีที่ปล่อยออกมากจาก mast cell และเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิไวเกิน จำนวนอีโอซิโนฟิลที่เพิ่มขึ้น จึงมักเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อปรสิต เช่น โรคพยาธิหนอนหัวใจ พยาธิตัวตืด พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ หรือภาวะภูมิไวเกิน เช่น ภูมิแพ้น้ำลายหมัด ส่วนอีโอซิโนฟิลที่ลดลง บ่งบอกถึงความเครียด หรือได้รับยาสเตียรอยด์
ลิมโฟไซต์
มีหน้าที่ในการสร้างแอนติบอดี เมื่อมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองจะขยายใหญ่ การที่จำนวนลิมโฟไซต์เพิ่มมากขึ้น อาจเกิดจากติดเชื้อเรื้อรัง เช่น โรค Canine ehrlichiosis (โรคพยาธิในเม็ดเลือดชนิดหนึ่ง) หรือพบได้ในกรณี Lymphocytic leukemia ในสุนัข แต่หากจำนวนลิมโฟไซต์ลดลง อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส ได้รับยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน ฯลฯ
โมโนไซต์
มีหน้าที่จับกินและย่อยสิ่งแปลกปลอม หรือเซลล์ที่ตายแล้ว จำนวนโมโนไซต์ที่เพิ่มขึ้น มักพบร่วมกับการเพิ่มขึ้นของนิวโทรฟิล ซึ่งพบได้ทั้งกรณีโรคแบบเฉียบพลันและเรื้องรัง มีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด การเกิดหนอง การตายของเนื้อเยื่อ การกระจายตัวของเนื้องอก ฯลฯ ส่วนการลดลงของโมโนไซต์นั้นไม่มีความสำคัญในการแปลผล เพราะจำนวนโมโนไซต์ในกระแสเลือดนั้นมีน้อยอยู่แล้วครับ
เบโซฟิล
เป็นเซลล์ที่พบในสุนัขน้อยมากเช่นกัน หากพบว่าเบโซฟิลมีจำนวนมากขึ้น อาจเป็นผลมากจากที่มีอิโอซิโนซิฟิลเพิ่มขึ้น และเกิดร่วมกับภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งอาจเกิดจากโรคต่อมไร้ท่อ (เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์) โรคตับเรื้อรัง กลุ่มอาการ nephrotic syndrome เป็นต้น ส่วนการลดลงของเบโซฟิลนั้นไม่มีความสำคัญในการแปลผลเช่นกัน
นอกจากดูจำนวนที่เปลี่ยนแปลงแล้ว คุณหมอยังต้องดูลักษณะรูปร่างที่ผิดปกติของเม็ดเลือดขาวด้วย ซึ่งสามารถใช้บ่งบอกภาวะต่าง ๆ ได้ เช่น ภาวะโลหิตเป็นพิษ การเป็นโรคเรื้อรัง เป็นมะเร็งเม็ดเลือด และสามารถใช้วินิจฉัยโรคพยาธิในเม็ดเลือดบางชนิดได้ด้วย แต่จะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้ครับ
เกล็ดเลือด
เกล็ดเลือดในสุนัขมีขนาดแตกต่างกันทั้งขนาดและรูปร่าง เกล็ดเลือดขนาดใหญ่ หรือ giant platelet มักพบในกรณีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากการถูกทำลาย หรือมีการใช้เกล็ดเลือดมากเกินไป เกล็ดเลือดขนาดเล็ก หรือ microplatelet พบในกรณีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือมีการสลายของเกล็ดเลือดในสัตว์ป่วยเป็นโรค immune-mediated thrombocytopenia ส่วนจำนวนของเกล็ดเลือดที่ผิดปกติ ก็สามารถบอกความผิดปกติกับเราได้เช่นกัน
โดยหากมีเกล็ดเลือดต่ำ อาจมีสาเหตุมาจากการที่สร้างเกล็ดเลือดลดลง เช่น โรคที่มีผลกระทบต่อไขกระดูก ได้รับยาที่กดการทำงานของไขกระดูก ติดเชื้อไวรัส ติดเชื้อริกเก็ตเซีย (Canine ehrlichiosis) ได้รับรังสี หรือมีสาเหตุมากจากเพิ่มการทำลายของเกล็ดเลือด เช่น ภาวะภูมิไวเกิน โรค autoimmune หรือการเกิด Disseminated intravascular coagulation (DIC) ซึ่งจะมีการใช้เกล็ดเลือดและปัจจัยการแข็งตัวของเลือดมากเกินไป การที่มีเกล็ดเลือดต่ำจะทำให้เลือดหยุดยาก
ส่วนการเพิ่มขึ้นของเกล็ดเลือด อาจมีสาเหตุมาจากได้รับยาสเตียรอยด์ เป็นมะเร็งเม็ดเลือดชนิด myeloproliferative disorder มีทรอมโบพอยอิตินในพลาสมาสูงขึ้น จึงกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือด หรือเกิดจากการที่สัตว์ตื่นเต้น ตั้งท้อง หรืออยู่ในระหว่างการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีเกล็ดเลือดสูงขึ้นชั่วคราว
และนี่ก็เป็นการแปลผลเลือด ที่ได้จากการตรวจค่าความสมบูรณ์ของเลือด คงจะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของค่าเลือดได้มากขึ้น แต่อย่างที่ มุมหมอหมา ได้บอกไปว่า ในการแปลผลเลือดนั้น นอกจากเรื่องของจำนวนแล้ว เรายังต้องดูขนาด รูปร่าง การกระจายตัว การติดสี และลักษณะสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ที่ตรวจพบอีก ซึ่งมีรายละเอียดและความซับซ้อนมากกว่านี้ อีกทั้งค่าเลือดที่เปลี่ยนไป ก็ไม่ได้จำเพาะว่าต้องเป็นโรคนั้นโรคนี้แต่เพียงอย่างเดียว ทำให้ในการวินิจฉัยโรคบางโรค การตรวจเลือดเพียงเท่านี้อาจยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคครับ
ยกตัวอย่าง กรณีผลเลือดของน้องหมาป่วยตัวหนึ่ง
ประวัติ
สุนัขตัวนี้มาด้วยอาการ ซึม อ่อนแรง ไม่ยอมกินอาหาร มาร่วม 2 วัน มีอาเจียนเป็นน้ำย่อย 1 ครั้ง สุนัขตัวนี้มีประวัติคลุกคลีกับสุนัขนอกบ้านที่มีเห็บ และเจ้าของพบเห็บบนตัวสุนัขก่อนหน้าที่จะป่วยประมาณ 1-2 ตัว
ผลการตรวจร่างกาย
สุนัขมีอาการซึม อ่อนแรง แต่ยังตอบสนองต่อสิ่งเร้า อุณหภูมิร่างกาย 103 F อัตราการเต้นของหัวใจ 144 ครั้งต่อนาที อัตราการหายใจ 36 ครั้งต่อนาที เสียงหัวใจปกติ เสียงปอดปกติ ชีพจรปกติ เยื่อเมือกซีด CRT<2 มีภาวะขาดน้ำ 5%
ผลการตรวจเลือด
ผลการตรวจพบว่า สุนัขตัวนี้มีการติดเชื้อริกเคตเซีย (โรคพยาธิในเม็ดเลือด) ชนิด E.canis ผลเม็ดเลือดแดง ทั้งค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (ดูที่ค่า Hct) และค่าความเข้มข้นของฮีโมโกลบิน (ดูที่ค่า Hb) ต่ำกว่าปกติ ประกอบกับสัตว์มีภาวะขาดน้ำ แสดงว่าสัตว์ป่วยมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย ผลการตรวจเม็ดเลือดขาวรวมปกติ (ดูที่ค่า WBC count) แต่เมื่อแยกดูจำนวนสัมบูรณ์ของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (ดูที่ค่า Absolute Lymphocyte count) ปรากฏว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อริกเคตเซียดังกล่าว และมีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ (ดูที่ค่า Platelet count) เพราะเชื้อริกเคตเซียทำให้การสร้างเกล็ดเลือดลดลงครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
dogilike.com
family.dogilike.com/tonvet/
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
รศ. ส.พญ. ดร.เฉลียว ศาลากิจ. 2548. ตำราโลหิตวิทยาทางสัตวแพทย์.
โรงพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นครปฐม.
ผลเลือดสุนัข... เจ้าของก็อ่านได้ ง่าย ๆ สไตล์จุฑามาส
โดย ส.พญ. จุฑามาส ตันธนะชัย
รูปภาพประกอบ:
nbcnews.com
wisegeek.com
cellwall.net
my.clevelandclinic.org
vetmed.vt.edu
tumblr.com
legacy.owensboro.kctcs.edu
wadsworth.org
sun025.sun.ac.za
lowplatelet.net
yaletownpethospital.com |