โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรง โรคพิษสุนัขบ้า ระบาดหนัก มารู้จักอาการเป็นอย่างไร ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า กี่เข็ม ถึงจะปลอดภัยจากโรคนี้
แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกับโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเจาะลึก ขอบอกกล่าวก่อนว่า ทุกวันที่ 28 กันยายน ถือเป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ซึ่งทุก ๆ ปี จะมีการรณรงค์และจัดงานให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้ากันแพร่หลายทั่วโลก เพื่อเป็นการรำลึกและเป็นเกียรติแก่ หลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2438 หรือ 116 ปีมาแล้ว
รู้จักโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือ โรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเรียกว่า "โรคหมาว้อ" จัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies) ซึ่งทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคน สุนัข แมว ลิง กระรอก ค้างคาว สุนัขจิ้งจอก สกั้งค์ แรคคูน พังพอน ฯลฯ พาหะนำโรคที่สำคัญในประเทศไทย คือ สุนัข ประมาณ 95% รองลงมาคือแมว ส่วนในต่างประเทศมักเกิดจากสัตว์ป่ากินเนื้อต่าง ๆ เช่น สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า Jaguarฯลฯ และสำหรับในแถบประเทศละตินอเมริกานั้น ยังพบพาหะที่สำคัญคือ ค้างคาวดูดเลือด (Vampire bat)
โดยโรคพิษสุนัขบ้านี้ เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการทางประสาท โดยเฉพาะที่ระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าเป็นแล้วจะเสียชีวิตทุกราย หากฉีดวัคซีนป้องกันโรคไม่ทัน ทั้งนี้ คาดกันว่าในแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ปีละกว่า 60,000 คน
ทำไมถึงเรียกโรคพิษสุนัขบ้าว่าโรคกลัวน้ำ
เพราะผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการกลัวน้ำ ซึ่งเป็นอาการแปลกที่พบในโรคพิษสุนัขบ้าเท่านั้น และเวลากินน้ำจะสำลักและเจ็บปวดมาก เพราะกล้ามเนื้อคอเป็นอัมพาตและเกร็ง
คนติดโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร
คนสามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ หากรับเชื้อจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้านี้ โดยสามารถรับเชื้อพิษสุนัขบ้าได้สองทางคือ
1. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัดหรือข่วน โดยเชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค จะเข้าสู่บาดแผลที่ถูกกัด
2. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย ปกติจะไม่ติดเชื้อ นอกจากว่าบริเวณที่ถูกเลียจะมีบาดแผล หรือรอยถลอก ขีดข่วน รวมทั้งการถูกเลียที่ริมฝีปาก หรือนัยน์ตา
ส่วนกรณีการติดต่อจากคนสู่คนนั้น ในตามทฤษฎีเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีรายงานที่ยืนยันแน่ชัด
ระยะฟักตัวของเชื้อในคน
จากการสำรวจผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าทุกรายจะมีระยะฟักตัวไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้ด้วย
1. อวัยวะที่ถูกกัด
2. ความรุนแรงของแผลที่ถูกกัด
3. ชนิดของสัตว์ที่กัด
4. ปริมาณของเชื้อไวรัสที่เข้าไปในบาดแผล
5. วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาหลังสัตว์กัด
ลำดับอาการของการเกิด โรคพิษสุนัขบ้า
1. เชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์ป่วย เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลโดยการกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล เพิ่มจำนวนระยะแรกในบริเวณที่ได้รับเชื้อ
2. เชื้อเข้าสู่แขนงประสาท และระบบประสาทส่วนกลาง ในเส้นประสาทเชื้อจะไม่เพิ่มจำนวน
3. เชื้อเข้าสู่สมองและเริ่มเพิ่มจำนวนเชื้อ จะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย
4. เชื้อเข้าสู่ไขสันหลังเชื้อจะเพิ่มจำนวนมาก ทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ จะมีอาการอัมพาตและตายในที่สุด ถ้าเชื้อเดินทางมาถึงสมองแล้วภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนก็จะป้องกันไม่ได้
อาการพิษสุนัขบ้า หลังถูกสุนัขกัด
1. ระยะอาการเริ่มแรก
ผู้ป่วยจะมีการอักเสบที่สมองและเยื่อสมองในระยะ 2-3 วันแรก โดยอาจปวดเมื่อยตัว มีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบบริเวณที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว
2. ระยะอาการทางระบบประสาท
จะเริ่มหงุดหงิด กระสับกระส่าย อาละวาด ไม่อยู่สุข โดยจะมีอาการเช่นนี้ประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจะเริ่มซึมเศร้า และมีอาการกลัว ทั้งไม่ชอบแสงสว่าง ลม เสียงดัง กลัวน้ำ ซึ่งอาจพบอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ มีน้ำลายไหล กลืนอาหารลำบากและเจ็บ เพราะเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน แต่ยังพูดจารู้เรื่อง
3. ระยะสุดท้าย
มีอาการเอะอะมากขึ้น สงบสลับกับชัก บางรายอาจเป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด เพราะส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด โดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตใน 2-6 วัน เนื่องจากอัมพาตของกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจ เพราะโรคลุกลามไปอย่างรวดเร็ว
วิธีสังเกตสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการ 2 แบบคือ
1. แบบดุร้าย จะมีอาการหงุดหงิด ไล่กัดคนและสัตว์อื่น ๆ บางครั้งสุนัขจะกัดจนฟันหัก ลิ้นเป็นแผล เมื่อแสดงอาการดุร้ายได้ 2-3 วัน ก็จะอ่อนเพลียลง ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และตายในที่สุด รวมระยะเวลาประมาณ 10 วัน
2. แบบเซื่องซึม สัตว์จะมีอาการปากอ้า หุบไม่ได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำ มีสิ่งสกปรกติดอยู่ และลิ้นจะห้อยออกมานอกปาก มีอาการคล้ายกระดูกติดคอ สุนัขจะเอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้มปากและคอบวม จะลุกนั่ง ยืน และเดินไปมาบ่อย ๆ กินของแปลก ๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือบางตัวจะกินปัสสาวะของตัวเอง แต่สุนัขไม่กัด ถ้าไม่ถูกรบกวน สุนัขแบบหลังนี้จะสังเกตอาการยากมากว่าเป็น โรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ดังนั้น หากสุนัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรตัดหัวไปพิสูจน์ก่อน
ส่วนแมวที่ป่วยจะมีอาการคล้ายสุนัขแต่ไม่ชัดเจนเท่า และพบอาการแบบดุร้ายมากกว่าแบบซึม
โรคพิษสุนัขบ้า รักษาอย่างไร
ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาโรคพิษสุนัขบ้าให้หายขาด จึงทำได้เพียงดูแล รักษาตามอาการเท่านั้น โดยควรปฏิบัติดังนี้ต่อผู้ป่วย
1. ให้แยกผู้ป่วย โรคพิษสุนัขบ้า ออกจากสิ่งเร้าต่าง ๆ
2. ให้สารอาหารแบบน้ำเข้าทางเส้นเลือด เพราะผู้ป่วยจะทานอาหารไม่ได้
3. ผู้ที่คอยดูแล ควรใส่เสื้อผ้ามิดชิด ใส่แว่นตา ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วย
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ที่ดีที่สุดคือ ระวังอย่าให้ถูกสุนัข หรือแมวกัด เพราะคนมักติดเชื้อจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค นอกจากนี้ยังควรพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย ที่สำคัญอย่าปล่อยให้มีลูกมาก ผู้เลี้ยงควรทำหมันสุนัขทั้งตัวผู้และตัวเมีย
วัคซีนพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดแบบไหน
สมัยก่อนเราอาจจะคุ้นว่า วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าต้องฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข็ม ถ้าหยุดต้องเริ่มต้นใหม่ แต่ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า ที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง โดยฉีดทั้งหมดเพียง 4-5 เข็มเท่านั้น และไม่ต้องฉีดทุกวัน โดยมี 2 แบบคือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งวัคซีนนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อระบบประสาท และสามารถฉีดได้ทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์
อย่างไรก็ตาม หากจะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ได้ผลดี ควรฉีดเซรุ่มควบคู่การฉีดวัคซีนด้วย โดยเฉพาะหากบาดแผลมีเลือดออก แผลลึก ถูกสุนัขเลียที่ตา ริมฝีปาก น้ำลายกระเด็นเข้าตา โดยเซรุ่มจะจะเข้าไปทำลายเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด การฉีดจะฉีดรอบ ๆ แผลก่อนที่จะก่อโรค และก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น
แต่ทั้งนี้ เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีราคาแพงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำมาจากเลือดคน ดังนั้นสถานเสาวภาจึงได้ดำเนินการผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจาดเลือดม้า และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดคน เพื่อใช้เองภายในประเทศ
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แบบป้องกันล่วงหน้า
เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้าได้ โดยฉีด 3 เข็ม ในระยะเวลา 1 เดือน สามารถฉีดได้ในทุกวัย โดยเฉพาะเด็กที่มักคลุกคลีเล่นกับสัตว์ และมีโอกาสถูกสัตว์กัด รวมทั้งผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และคนตั้งครรภ์ก็สามารถฉีดวัคซีนนี้ได้เช่นกัน
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนล่วงหน้า
ประโยชน์คือ หากถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะได้ภูมิต้านทานที่สูงพอจะป้องกันโรคอย่างได้ผล รวมทั้งไม่เสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม หรือเจ็บปวดรอบ ๆ แผลจากการฉีดเซรุ่ม
การปฏิบัติตัวหลังถูกสุนัขกัด
หากถูกสุนัขกัดควรดำเนินการต่อไปนี้
1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ 2-3 ครั้ง ถ้ามีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น
2. ใส่ยา เช่น เบตาดีน ทิงเจอร์ไอโอดีน แอลกอฮอล์ 70% จะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ อย่าใส่สิ่งอื่น เช่น เกลือ ยาฉุน ลงในแผล ไม่ควรเย็บแผล และไม่ควรใช้รองเท้าตบแผล เพาะอาจทำให้เชื้อกระจายไปรอบบริเวณเกิดแผลได้ง่าย และอาจมีเชื้อโรคอื่นเข้าไปด้วย ทำให้แผลอักเสบ
3. กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์นั้นดุร้าย กัดคนหรือสัตว์อื่น หรือไม่สามารถกักสัตว์ไว้ได้ ถ้าสัตว์หนีหายไปให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
4. รีบพบแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนและเซรุ่ม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรรอดูอาการสุนัข เพราะอาจสายเกินไป
5. หากสุนัขตายให้นำซากมาตรวจหาเชื้อ หากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ แต่หากติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ ต้องรีบมารับการฉีดวัคซีนโดยทันที
การส่งซากสัตว์ เพื่อวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้า
เมื่อสงสัยว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ควรกักขังสัตว์ไว้ในที่ปลอดภัย และเฝ้าดูอาการประมาณ 15 วัน ไม่ควรทำลายสัตว์โดยไม่จำเป็น ควรปล่อยให้สัตว์ตายเอง ซึ่งจะตรวจพบเชื้อได้ง่าย และแน่นอนกว่า
ในการส่งซากควรส่งให้เร็วที่สุด ภายใน 24 ชั่วโมง โดยปฏิบัติอย่างระมัดระวัง เรื่องความสะอาด ควรสวมถุงมือขณะเก็บซาก และล้างมือให้สะอาดหลังจากเก็บซาก ควรส่งเฉพาะส่วนหัว หรือหากเป็นสัตว์ตัวเล็กสามารถส่งได้ทั้งตัว โดยแช่แข็งไว้ในกระติก หรือกล่องโฟม ใส่น้ำแข็งให้เย็นตลอดเวลา พร้อมระบุประวัติของสัตว์ ชนิด เพศ อายุ สี อาการป่วย ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ เจ้าของสัตว์ และผู้ถูกกัด
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า
- สุนัขตัวผู้เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าตัวเมีย
- สุนัขอายุน้อยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าอายุมาก
- สุนัขมักแสดงอาการบ้าแบบดุร้ายมากกว่าแบบซึม
- ลูกสุนัข (ทุกอายุ) มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นเดียวกับสุนัขโต
- ผู้ชายตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าผู้หญิง
- กว่า 90% ของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เพราะไม่ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนหลังจากถูกสัตว์กัด
- ผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ เพราะถูกกัดโดยสุนัขจรจัด หรือสุนัขที่มีเจ้าของ แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
- การช่วยเหลือสุนัขจรจัดโดยการหาอาหาร แต่ไม่นำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและคุมกำเนิดไม่ให้มีลูก เป็นการเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัดและแพร่กระจายโรคพิษสุนัขบ้า
- โรคพิษสุนัขบ้า พบได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เกิดจากเพราะความเครียดที่มาจากความร้อน
- หากมีข้อสงสัย ติดต่อได้ที่ กองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์ โทร. (02) 653-4444 ต่อ 4141, 4142, 4117
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
-
กรมปศุสัตว์
-
คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
-
สำนักโรคติดต่อทั่วไป
http://www.dld.go.th/niah/AnimalDisease/zoonosis_Rabies.htm
kapook.com