ขั้นตอนเตรียมความพร้อม ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา สำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด โควิด 19 เป็นเวลา 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาท
Thai PBS News
จากกรณีที่รัฐบาลแถลงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ เพื่อเป็นการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ จากสถานการณ์โรคระบาด โควิด 19 หลังมีการสั่งปิดสถานที่ที่เป็นจุดเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า อาทิ สถานบันเทิง สนามมวย หรือห้างสรรพสินค้า
โดยจะมีการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 ทางรัฐบาลได้มีการจัดทำเว็บไซต์ให้เข้าตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อลงทะเบียนแสดงความจำนงในการรับเงินช่วยเหลือมาตรการดังกล่าว
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนในการลงทะเบียนมีรายละเอียด ดังนี้...
1. เข้าลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com คาดว่าเว็บไซต์จะแล้วเสร็จในวันที่ 28 มีนาคม นี้ หรือติดตามประกาศจากทางการในลำดับต่อไป
2. เตรียมหลักฐานสำหรับลงทะเบียน ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน, ข้อมูลบริษัทนายจ้าง, ข้อมูลปัญหาความเดือดร้อน และข้อมูลบัญชีพร้อมเพย์ หรือบัญชีธนาคาร
3. เงินเยียวยาจะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคาร ภายใน 5 วัน หลังการลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนดังกล่าว จำกัดสิทธิ์เพียง 3 ล้านรายเท่านั้น โดยผู้ที่สามารถลงทะเบียนได้ ต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราว, อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ในส่วนของผู้ที่อยู่ในประกันสังคม จะสามารถเพิ่มสิทธิกรณีว่างงาน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง โดยกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน รับเงินไม่เกิน 180 วัน และกรณีรัฐสั่งหยุด รับเงินไม่เกิน 90 วัน โดยธนาคารกรุงไทย จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ
8 มาตรการเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจ จากปัญหาโรคระบาด โควิด 19 แจกเงินคนละ 5,000 บาท - ให้สินเชื่อฉุกเฉินดอกเบี้ยต่ำ - ยืดการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดย มาตรการระยะที่ 2 สำหรับเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน มีทั้งสิ้น 8 มาตรการ ได้แก่..
เพิ่มสภาพคล่อง
1. สนับสนุนเงิน คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) : ให้เงินเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ระบบประกันสังคม จากการปิดที่เสี่ยงต่อการระบาดชั่วคราว จำนวน 3 ล้านคน
สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม : เพิ่มสิทธิกรณีว่างงาน 50 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้าง โดยกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน รับเงินไม่เกิน 180 วัน และกรณีรัฐสั่งหยุด รับเงินไม่เกิน 90 วัน โดยธนาคารกรุงไทย จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ
2. สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย : วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.1 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
3. สินเชื่อพิเศษ 50,000 บาทต่อราย : โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน มีหลักประกัน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
4. สำนักงานธนานุเคราะห์ รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ : เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบ โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี
ลดภาระ
5. ยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : เลื่อนกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563
6. หักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น : เพิ่มวงเงินลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป
7. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์
เพิ่มทักษะ
8. ฝึกอบรมมีเงินใช้ : ฝึกอบรม เพิ่มทักษะอาชีพหรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้, ขยายฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือกองทุนหมู่บ้าน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HDwww.เราไม่ทิ้งกัน.com
ที่มา kapook.com
|