ทีมสัตวแพทย์เผยความคืบหน้าอาการ สุนัขเกรทเดน 13 ตัว แต่ละตัวมีชื่อแล้วนะ เผยยังวิกฤตอยู่ 5 ตัว
สำหรับข่าว น้องๆเกรทเดน 13 ตัว อัพเดทตอนนี้ ทีมสัตวแพทย์เผยความคืบหน้าอาการ สุนัขเกรทเดน 13 ตัว เผยมี 5 ตัว ป่วยวิกฤต ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน ได้แก่ คุณเบลล่า, คุณคิมเบอรี่, คุณอาร์ยา, คุณแดรี่ และ คุณบาตู ต้องให้เลือด คาดทั้งหมดใช้เวลาฟื้นฟูกว่า 1 เดือน ในหลวงร.10 ขอรับน้องหมาเกรทเดนทั้ง13ชีวิตไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ หลังเจ้าของขายไม่ออก ปล่อยให้อดตาย
จากกรณี พบสุนัขเกรตเดน 13 ตัว ถูกเจ้าของปล่อยทิ้งให้อดอาหารจนผอมโซ เนื่องจากเพาะพันธุ์แล้วขายไม่ออก สร้างความเวทนาให้แก่ผู้ที่พบเห็นอย่างมาก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาธิคุณทรงรับอุปการะสุนัขเกรตเดน 13 ชีวิต เอาไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้นำสุนัขไปรักษาและอภิบาลต่อที่โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ
ล่าสุด (23 สิงหาคม 2562) เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า ทีมสัตวแพทย์ได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือและรักษาสุนัขพันธุ์เกรตเดน 13 สุนัข ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดย น.สพ.นนทษิต ชุติญาณวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวว่า สุนัขทั้งหมดเป็นเพศผู้ 5 สุนัข และเพศเมีย 8 สุนัข โดยทีมแพทย์แยกสุนัขออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเฝ้าติดตามอาการ และกลุ่มต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน
1. กลุ่มเฝ้าติดตามอาการ 8 สุนัข ได้แก่
- เพศผู้ 4 สุนัข คือ คุณบิซาโร่ อายุ 2 ปี 3 เดือน, คุณโทโร่ อายุ 2 ปี 3 เดือน, คุณหมอทรัพย์ อายุ 5 เดือน และ คุณชาลี อายุ 11 เดือน
- เพศเมียมี 4 สุนัข คือ คุณไบรโอนี่ อายุ 2 ปี 3 เดือน, คุณเบนลิซ่า อายุ 2 ปี 3 เดือน, คุณกาสะลอง อายุ 5 เดือน และคุณเชอริล อายุ 11 เดือน
สุนัขกลุ่มนี้สามารถกินอาหาร เดินหรือวิ่งได้เอง จึงไม่น่ากังวล แต่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเรื่องสุขภาพ โภชนาการ การป้องกันและกำจัดปรสิตภายในและภายนอก รวมถึงตรวจวินิจฉัยโรคอื่น ๆ เนื่องจากอยู่ในช่วงฟื้นตัว
2. กลุ่มที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน 5 สุนัข ซึ่งขณะนี้พักรักษาอยู่ห้องสัตว์ป่วยวิกฤต ได้แก่
- คุณบาตู อายุ 2 ปี 3 เดือน เพศผู้ เป็นสุนัขขนาดใหญ่ ตรวจพบภาวะกระเพาะอาหารขยายใหญ่ ต้องทำการสอดท่อระบายแก๊ส อาการโดยรวมอยู่ในภาวะคงที่ สามารถกินอาหารได้ แต่ยังมีภาวะอ่อนแรง
- คุณเบลล่า อายุ 5 เดือน เพศเมีย ตรวจพบเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อ (Canine Parvovirus) ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด แพทย์ทำการรักษาโดยให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้โปรตีนเข้าทางเส้นเลือด ให้ยาฉีด และแยกให้อยู่ในห้องปลอดเชื้อเพื่อเฝ้าดูอาการ อยู่ในภาวะคงที่ สามารถกินอาหารได้ ขับถ่ายเป็นปกติ
- คุณแดรี่ อายุ 5 เดือน เพศเมีย พบภาวะอ่อนแรง สัตวแพทย์ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาปฏิชีวนะ ยาบำรุง สภาพโดยรวมดีขึ้น สามารถลุกเดินได้ กินอาหารและขับถ่ายได้
- คุณคิมเบอรี่ อายุ 5 เดือน เพศเมีย ตรวจพบภาวะโลหิตจาง มีระดับเม็ดเลือดแดงต่ำมาก สัตวแพทย์ทำการถ่ายเลือด ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ยาบำรุง อาการโดยรวมตอบสนองได้ดี กินอาหารได้ ขับถ่ายเป็นปกติ
- คุณอาร์ยา เพศเมีย พบภาวะอ่อนแรง มีโปรตีนในเลือดต่ำ ได้ให้สารน้ำโปรตีนทางหลอดเลือด ให้ยาปฏิชีวนะ และยาบำรุง สภาพโดยรวมดีขึ้น ตอบสนองได้ดี กินอาหารและขับถ่ายได้เป็นปกติ
ทั้งนี้ ผศ. น.สพ. ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กล่าวว่า สุนัขทุกตัวน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดสารอาหารมาร่วม 1 เดือน คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูมากกว่า 1 เดือน และจะกลับสู่ภาวะปกติในอีก 2 เดือน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ขณะที่ รศ. สพ.ญ. ดร.อารีย์ ทยานานุภัทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวว่า สุนัขที่ป่วยวิกฤต มีความจำเป็นต้องให้เลือด ซึ่งต้องใช้เลือดปริมาณมาก แม้จะมีการสำรองเลือดไว้แล้ว แต่ก็ต้องขอรับบริจาคเพิ่มเติม โดยประชาชนที่เลี้ยงสุนัขทุกสายพันธุ์ ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 17 กิโลกรัมขึ้นไป อายุตั้งแต่ 1-7 ปี สามารถเข้ามาบริจาคเลือดได้ทุกวัน ในเวลา 07.30-19.30 น. ที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ที่มา kapook.com เดลินิวส์ออนไลน์
|