ลืมรหัสผ่าน
 สมัครสมาชิก
ค้นหา

การให้ยาสัตว์เลี้ยง ไม่ยากเล้ย

[คัดลอกลิงก์]
เสื้อหมา เสื้อแมว รถเข็นหมา รถเข็นแมว

879378.jpg

การให้ยาสัตว์เลี้ยง

สัตว์เลี้ยงก็เช่นเดียวกับมนุษย์คือ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับกฎธรรมชาติของชีวิตดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้
คือ แก่ เจ็บป่วย และตายในที่สุด เมื่อสัตว์เลี้ยงของท่านเจ็บป่วย ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
การรักษานั้นมีทั้งการให้ยาและการแก้ไขสภาพแวดล้อมหรือที่ตัวสัตว์เลี้ยงโดยตรง เช่น เปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนที่นอน หรือใส่เสื้อให้ เป็นต้น
เมื่อสัตวแพทย์มีความเห็นว่าต้องให้ยาเพื่อรักษาอาการป่วยของสัตว์เลี้ยง ก็จะสั่งยาเพื่อรักษาโรคตามการวินิจฉัยนั้น
ถ้าเป็นยาฉีดจะดำเนินการโดยสัตวแพทย์ แต่ถ้าเป็นยาที่ให้กินหรือยาใช้ภายนอก (เช่น ยาทาแผล ยาหยอดตา และยาหยอดหู เป็นต้น) แล้ว
สัตวแพทย์จะสั่งยาเพื่อให้เจ้าของสัตว์ไปดำเนินการให้ยาเอง ดังนั้นเจ้าของสัตว์จึงควรมีความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับการให้ยาเพื่อที่จะให้การรักษา
มีประสิทธิภาพและไม่เกิดการดื้อยา แต่บางครั้งก็มีการให้ยา โดยที่สัตว์เลี้ยงไม่ได้เจ็บป่วย เช่น ยาถ่ายพยาธิและยาบำรุง เป็นต้น


Q : รูปแบบของยาที่ให้มีอะไรบ้าง
A : ยาที่ให้สัตว์มีหลายรูปแบบตามวัตถุประสงค์และความสะดวกในการให้ มีทั้งรูปยาฉีด ยากิน ยาสูดดม และยาใช้ภายนอก
ยาฉีดและยาสูดดมนั้น ดำเนินการโดยสัตวแพทย์ ส่วนยากินและยาใช้ภายนอกนั้น สัตวแพทย์จะบอกให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงไปดำเนินการเอง
ยากินมีหลายแบบ ทั้งที่เป็นของแข็ง (ได้แก่ ยาผงในแคปซูลและยาเม็ด) และยาน้ำ (ได้แก่ ยาผงผสมน้ำ ยาแขวนลอย ไซรัป ซึ่งเป็นยาเข้าน้ำเชื่อม และยาเข้าแอลกอฮอล์)
แต่ที่สัตวแพทย์มักจ่ายให้กับสัตว์เลี้ยง ได้แก่ ยาเม็ด ยาผงผสมน้ำ และยาไซรัป
ยาใช้ภายนอกก็มีหลายรูปแบบ ตามลักษณะของยา และวัตถุประสงค์ของการใช้ อาจจะเป็นยาทาผิวหนัง (เช่น โลชั่น สเปรย์ ยาผงฝุ่น ขี้ผึ้ง และครีม)
ยาใช้กับตา (เช่น ยาป้ายตา และยาหยอดตา) ยาใช้กับหู (เช่น ยาหยอดหู) และยาสอดเข้าช่องคลอด ยาที่มักจะใช้กับสัตว์เลี้ยง ได้แก่ ครีมทาผิวหนัง ยาหยอดตา และยาหยอดหู

1382_1.jpg


Q : เรามีวิธีการให้ยาสุนัขอย่างไร
A :
1. วิธีการป้อนยาเม็ด
1. ใช้มือข้างหนึ่งเปิดปากสุนัขเบาๆ
2. ใช้มืออีกข้างหนึ่งวางยาลงบนด้านในสุดของลิ้น
3. ปิดปากสุนัขและใช้มือลูบคอ
4. เมื่อสุนัขเลียปากแสดงว่ากลืนยาลงไปในกระเพาะอาหารแล้ว ให้พูดชมสุนัข

2. วิธีการป้อนยาน้ำ
1. เขย่าขวดยาก่อน แล้วดูดยาใส่ภาชนะที่ใช้ป้อนยา เช่น กระบอกฉีดยาพลาสติก
2. จับหน้าสุนัขเงยขึ้นเล็กน้อย
3. ค่อยๆปล่อยหรือฉีดยา ใส่บริเวณด้านข้างระหว่างฟันกับริมฝีปาก

3.วิธีการให้ยาหยอดตา
1. ทำความสะอาดตาโดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่นหมาดๆเช็ดขี้ตาออก
2. ค่อยๆบังคับสุนัขและให้ตาเปิด วางมือตรงด้านหลังใบหน้าสุนัข เพื่อไม่ให้สุนัขมองเห็น
3. บีบน้ำยาลงไปที่ตาและปล่อยให้ยากระจายทั่วตา

4. วิธีให้ยาหยอดหู
1. จับหัวของสุนัขให้นิ่ง ใบหูพับไปด้านหลัง และทำความสะอาดหู โดยใช้น้ำยาล้างหู
2. หยอดยาใส่หู
3. นำใบหูของสุนัขไปไว้ตำแหน่งเดิม จากนั้นใช้นิ้วกดที่กกหู เพื่อให้ยากระจายได้ทั่วช่องหู


Q : หากต้องป้อนยาให้แมวจะต้องทำอย่างไร
A : วิธีการป้อนยาเม็ดให้แมว
ข้อควรระวังในการให้ยาแมว คือ การใช้เท้าหน้าข่วน เพราะเล็บแมวคมมาก จึงต้องมีคนช่วยจับขาหน้าไว้ด้วยเมื่อให้ยาแมว
การให้ยาหยอดตา และยาหยอดหู ใช้วิธีเดียวกับการให้ยาสุนัข โดยค่อยๆปล่อยหรือฉีดยาใส่เข้าไป ระหว่างฟันด้านหลังฟันเขี้ยว
แทนที่จะค่อยๆปล่อยหรือฉีดยา ใส่บริเวณด้านข้างระหว่างฟันกับริมฝีปาก ดังที่ปฏิบัติกับสุนัข แต่การป้อนยาเม็ดให้แมว
จะมีข้อแตกต่างกับการป้อนยาเม็ดในสุนัข เมื่อต้องการป้อนยาเม็ดให้แมวต้องปฏิบัติดังนี้
1.ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือข้างหนึ่งกดปากแมวให้เปิดกว้างมากที่สุด โดยให้มืออยู่เหนือหัวแมว
2. ใช้มืออีกข้างหนึ่งรีบใส่ยาในปาก โดยให้เข้าลึกมากที่สุด แต่ต้องระวังฟันเขี้ยวของแมวด้วย
3. รีบปิดปากแมว

Avanti_02425_500.jpg


Q : การเก็บรักษายานั้นมีวิธีการอย่างไร
A : เมื่อได้รับยามาจากสัตวแพทย์ ต้องตรวจสอบว่าได้รับยาถูกต้องหรือไม่ และต้องเก็บรักษาให้ถูกวิธีด้วย ดังนั้นเมื่อได้รับยาจากสัตวแพทย์ควรกระทำดังนี้
1.เก็บยาไว้ในสถานที่ที่สะดวก หยิบใช้ง่าย มีอากาศถ่ายเท แต่ไม่ถูกแสงแดดหรือความร้อนมาก และไม่อยู่บริเวณที่สัตว์เลี้ยงจะเขี่ยเล่นหรือกินได้เอง
2.เก็บยาในตู้เย็นในกรณีที่สัตวแพทย์แนะนำให้เก็บในตู้เย็น
3.ไม่เก็บยาต่างชนิดไว้ในซองเดียวกัน หรือภาชนะบรรจุเดียวกัน
4.ต้องมีชื่อยาหรือสรรพคุณของยาปิดอยู่
5.ก่อนใช้ยาต้องสังเกตว่ายาตกตะกอนหรือเปลี่ยนสีหรือไม่
6.ตรวจดูวันหมดอายุของยาหรือวันที่รับยาซึ่งเขียนไว้ที่ซองยา
7.ปิดฝาขวดหรือปิดถุงยาให้สนิทหลังจากใช้ยา


หลักการใช้ยาให้ได้ผล


การที่จะให้ยากับสัตว์เลี้ยงให้มีประสิทธิภาพดีจนสัตว์มีอาการดีขึ้น หรือหายจากอาการป่วย ต้องปฏิบัติดังนี้
1.ให้ยาได้เต็มขนาดตามที่กำหนดไว้
2.ให้ยาด้วยวิธีการให้ และเวลาที่ให้ยาซ้ำตามที่สัตวแพทย์แนะนำ
3.ระยะเวลายาวนานในการให้ยาต้องเหมาะสมกับชนิดของโรค นั่นคือ ต้องให้ยาจนหมดตามที่สัตวแพทย์สั่ง และต้องมาตรวจซ้ำตามกำหนดนัดหมาย
4.แต่ถ้าสังเกตว่าไม่มีการตอบสนองที่ดีต่อการให้ยาต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์ โดยไม่ต้องรอให้ยาจนหมด เพื่อที่จะตรวจวินิจฉัย หรือเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดใหม่ต่อไป
5.ถ้ามีข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ยา ต้องสอบถามสัตวแพทย์
6.ถ้าเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์กับสัตว์ป่วยจากการใช้ยา เช่น อาเจียน น้ำลายไหล หายใจขัด ตัวสั่น และผิวหนังเป็นผื่นแดง ต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาทันที

ความล้มเหลวจากการใช้ยา


การที่ยาไม่ให้ผลที่ดีในการรักษาอาจเนื่องจาก

1.รักษาด้วยยาช้าเกินไป จนช่วยชีวิตสัตว์ป่วยไม่ทัน
2.การวินิจฉัยไม่ถูกต้อง จึงใช้ยาไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของสัตวแพทย์
3.ใช้ยาไม่เหมาะสม เช่น ให้ยาขนาดต่ำเกินไป และระยะเวลาที่ให้ยาสั้นเกินไป
4.ให้ยาที่เสื่อมคุณภาพ เช่น ตกตะกอน สีผิดปกติ และหมดอายุ เป็นต้น
5.เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยา


www.dogthailand.net
ขอขอบพระคุณ
รศ.น.สพ.ดร.กมลชัย ตรงวานิชนาม
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


loading...
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

รายละเอียดเครดิต


โทรศัพท์มือถือ|รายชื่อผู้ถูกระงับบัญชี|dogthailand.net

แนะนำที่พัก โรงแรม รีสอร์ท สัตว์เลี้ยงเข้าพักได้ ทั่วประเทศ

GMT+7, 2024-11-21 18:03 , Processed in 0.084583 second(s), 21 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.8

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้