สัญญาณเตือนภัย โรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง
สัญญาณเตือนภัย โรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง (Dogazine)
เรื่องโดย โรพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4
"หัวใจ" ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกายของสัตว์เลี้ยง เพราะหากหัวใจหยุดทำงาน ทุกชีวิตต้องตาย หน้าที่สำคัญของหัวใจคือ สูบฉีดเลือดเพื่อนำออกซิเจนสารอาหารต่าง ๆ ผ่านทางหลอดเลือดไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ความผิดปกติที่เกิดกับหัวใจ ส่วนใหญ่มักจะทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง
โรคหัวใจที่พบในสัตว์เลี้ยงสามารถพบได้เช่นเดียวกับในคน คือสามารถพบได้ตั้งแต่เกิด (พบน้อย) หรือพบภายหลังตามมา ซึ่งโดยทั่วไปมักพบว่าโรคหัวใจมีการพัฒนาขึ้นในช่วงกลางชีวิต โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired Heart Disease) เป็นลักษณะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอายุมาก
โรคหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ และความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจ สัตว์เลี้ยงที่ป่วยด้วยโรคหัวใจสามารถควบคุมอาการของโรคได้ ด้วยการให้อาหารที่ถูกต้องการออกกำลังกาย และการใช้ยาโรคหัวใจ ด้วยการเลือกใช้อาหารที่ถูกต้องร่วมกับคำแนะนำของสัตวแพทย์ จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุขภาพแข็งแรง
โรคหัวใจแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ
1. โรคลิ้นหัวใจรั่ว
"โรคลิ้นหัวใจรั่ว" เป็นความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจ โดยมีการปิดไม่ดี ทำให้มีการรั่วไหลย้อนของเลือด ส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบบ่อยในสุนัข
2. โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ
อาการผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการหนาตัว (ซึ่งพบบ่อยในแมว) หรือที่เรียกว่า Hypertrophic Cardiomyopathy (HCM) หรือความผิดปกติกล้ามเนื้อหัวใจอีกชนิด คือผนังกล้ามเนื้อหัวใจบางกว่าปกติและมีความอ่อนแอ ที่เรียกว่า Dilated Cardiomyopathy (DCM) มีผลให้การบีบตัวของหัวใจลดลง (ซึ่งกรณีนี้มักพบในสุนัข) ในสุนัขหรือแมวจะเป็นตรงกันข้ามกัน
โรคหัวใจทั้งสองชนิด จะค่อยพัฒนาขึ้นโดยใช้ระยะเวลา แต่ผลในที่สุดคือ ก่อให้เกิดภาวะที่มีความรุนแรงต่อการทำงานของหัวใจที่เรียกว่า "หัวใจล้มเหลว" (Heart Failure) เกิดหัวใจวายและเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากโรคหัวใจ 2 ชนิดดังกล่าว อาจพบโรคหัวใจชนิดอื่น อีกได้แต่พบไม่บ่อยนักเช่นโรคพยาธิหนอนหัวใจมีพาหะมาจากยุงกัดพบได้ทั้งในสุนัขและแมว แต่ในปัจจุบันเจ้าของสัตว์เลี้ยง มีความเข้าใจ และป้องกันมากขึ้น ทำให้โอกาสพบน้อยลง หรือในแมวที่มักพบโรคหลอดเลือดอุดตันในแมว (Feline Aortic Thromboembolism) ทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันตามขา เกิดอัมพาตตามมา เกิดเนื้อตายที่กล้ามเนื้อขา ในที่สุดขาจะเป็นเนื้อตาย มีการติดเชื้อ เพราะเกิดจากการขาดออกซิเจนแต่มักเป็นผลตามมาจากโรคหัวใจในแมวอีกที เป็นต้น
จะทราบได้อย่างไรว่า สัตว์เลี้ยงเป็นโรคหัวใจ
อาการของโรคหัวใจนั้นบ่งบอกได้ยาก เพราะมักคล้ายคลึงกับความผิดปกติของโรคอื่น อาการค่อนข้างผันแปร หรือไม่แน่นอน อาจจะพบได้ตั้งแต่ประเภทที่ไม่สามารถสังเกตอาการได้ จนถึงสามารถสังเกตพบอาการได้ แต่ละอาการจะมีความเด่นชัด หรือมีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อการพัฒนาของโรคหัวใจมากขึ้น
อาการโรคหัวใจที่พบได้ส่วนใหญ่ ได้แก่
ซึม อ่อนเพลีย
เป็นลมหมดสติ
ออกกำลังได้น้อย เหนื่อยง่าย
หายใจลำบาก
ช่องท้องบวม
ไอ
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
ขาหลังเป็นอัมพาตบางส่วน (พบในแมว)
ผู้ที่จะให้คำตอบที่ดีที่สุดว่าสุนัขหรือแมวเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ก็คือสัตวแพทย์ประจำตัวสัตว์เลี้ยงของท่าน โดยเฉพาะสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ในด้านโรคหัวใจจะสามารถให้คำตอบที่แม่นยำได้ ดังนั้น การนำสัตว์เลี้ยงของทานไปตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจร่างกายโดยการฟังการเต้นของหัวใจจะสามารถบอกความผิดปกติของหัวใจในระยะเริ่มแรกได้
นอกจากนี้การวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ็กซเรย์ การตรวจอัลตราซาวนด์ด้วยคลื่นเสียง (Echocardiography) ก็สามารถชี้เฉพาะยืนยันได้แม่นยำและละเอียดมากขึ้น เหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้ตรวจพบภาวะโรคหัวใจในระยะเริ่มต้นได้
เมื่อนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ สัตวแพทย์อาจจะถามเจ้าของถึงอาการหรือข้อมูลที่จำเพาะเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของท่าน ก่อนที่จะทำการตรวจร่างกายสุนัข ถ้าสัตวแพทย์สงสัยว่ามีปัญหาทางสุขภาพหรือโรคหัวใจ อาจจะต้องมีการตรวจพิเศษเพื่อการวินิจฉัยโรคที่จำเพาะมากขึ้น เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ การถ่ายภาพรังสี ตรวจวัด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography) การตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ ด้วยคลื่นเสียง (Echocardiography) หรือตรวจวิธีการอื่นๆ ที่จำเป็นการตรวจร่างกายเป็นประจำ (ทุกปี) จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้สามารถตรวจพบโรคหัวใจในระยะเริ่มต้นได้
สาเหตุการเกิดของโรคหัวใจ
โรคหัวใจมักไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว ปัญหาจากการกินอาหารไม่เหมาะสมสามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน นอกจากนี้ โรคอ้วน และการที่สัตว์มีน้ำหนักตัวมากเกินไปสามารถโน้มนำให้เกิดโรคได้ รวมถึง
1. พันธุ์ของสัตว์เลี้ยง
ในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น Poodle, Miniature Pinscher, Cavalier King Charles Spaniel มักพบปัญหาโรคสิ้นหัวใจรั่ว ขณะที่สุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น Dobermann Pinscher, Labrador Retriever, Great Dane และ Boxer มักเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ
ส่วนในแมวสายพันธุ์ Persian, Maine Coon และ American Shorthair มักพบความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น
2. อายุ
ความถี่ของโรคหัวใจ มักเพิ่มมากขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น
3. เพศ
สัตว์เลี้ยงเพศผู้ มักพบเป็นโรคหัวใจมากกว่าเพศเมีย
โรคหัวใจสามารถรักษาได้หรือไม่?
โรคหัวใจของสุนัขและแมวอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้ว่าการรักษาด้วยวิธีการและเทคนิคสมัยใหม่ได้ถูกนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน หรือการใช้ยากินบางตัวที่ต้องกินไปตลอดชีวิตอาจสามารถช่วยยืดเวลานานออกไปได้ก็ตาม แม้ยาจะมีราคาแพงและไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่ความสำเร็จของการรักษาโรคหัวใจสุนัขขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ประการ ทั้งความร่วมมือที่ดีของเจ้าของสัตว์ และสัตวแพทย์ประจำที่สามารถตรวจพบปัญหาโรคหัวใจในระยะแรก ๆ ดูว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะจะเป็นการช่วยรักษาชีวิตสุนัขของท่านให้ยืนยาวต่อไปและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ดังนั้นการนำสัตว์เลี้ยงเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ถือเป็นสิ่งที่เจ้าของสัตว์ควรคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับ การตรวจเช็คสุขภาพของตัวคุณผู้เป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน
www.dogthailand.net |