การผสมพันธุ์สุนัข
การผสมแบบเลือดชิด หรือ In Breeding เป็นการผสมพันธุ์สุนัขที่มีสายเลือดชิดกัน หรือสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ พ่อผสมลูกสาว แม่ผสมลูกชาย หรือพี่น้องท้องเดียวกันผสมกันเอง
ไม่ควรผสมพันธุ์ระหว่างสุนัขที่มีสายเลือดใกล้ชิดกัน เช่น พ่อหรือแม่กับลูก
ต่อเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ มุมหมอหมา ได้นำเสนอบทความเรื่อง หาวันวิวาห์ให้น้องหมาสุดรัก ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับวิธีการหาวันผสมพันธุ์ที่เหมาะสมของสุนัข ให้เพื่อนๆ ได้ทราบกันไปแล้ว แต่ความสำเร็จของการผสมพันธุ์สุนัขนั้น ไม่ได้เพียงอาศัยความรู้เรื่องการเลือกวันผสมที่เหมาะสมแค่อย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความรู้เรื่องวิธีการผสมพันธุ์สัตว์ที่ถูกต้องด้วย เพื่อจะได้ลูกสุนัขที่มีสุขภาพกายและสุขภาพทางใจ (อารมณ์) แข็งแรงตลอดไป
ระบบการผสมพันธุ์สัตว์ (Mating system) ทุกชนิดรวมไปถึงสุนัขนั้น มีมากมายหลายวิธี หากเราแบ่งแยกตามความสัมพันธ์ทางเครือญาติ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆก็คือ การผสมต่างสายเลือด (Outbreeding) กับ การผสมแบบเลือดชิด (Inbreeding) ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน สำหรับวันนี้ มุมหมอหมา จะขอเสนอความรู้เกี่ยวกับ อันตรายจากการผสมเลือดชิด ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ผสมพันธุ์สุนัขควรต้องรู้ ... ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับการผสมเลือดชิดกันก่อนครับ
การผสมเลือดชิด (Inbreeding) เป็นการการจับคู่ผสมพันธุ์ระหว่างสัตว์ที่มีสายเลือดเดียวกันและมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ ไม่ว่าจะเป็น ญาติสายตรง (พ่อ แม่ ลูก ปู่ ยา ตา ยาย) หรือญาติข้างเคียง (ลุง ป้า น้า อา ) เช่น พ่อผสมกับลูก แม่ผสมกับลูก พี่ผสมกับน้องท้องเดียวกัน เป็นต้น เหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดได้เองในธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นได้จากการกระทำของมนุษย์
ในโลกของสุนัขเราสามารถพบเห็นการผสมเลือดชิดได้ในหลายกรณี เช่น สุนัขป่าที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง จึงผสมกันเองในฝูง หรือในสุนัขบ้านที่เจ้าของไม่ได้ป้องกัน จึงเกิดการผสมกันเองในหมู่เครือญาติภายในบ้าน หรือในฟาร์มเพาะสุนัขที่เลือกวิธีการผสมแบบเลือดชิด เพื่อให้ได้ลักษณะตามที่ตนต้องการ
ทำไมต้องผสมเลือดชิด
การผสมเลือดชิด ทำให้ความแปรปรวนทางพันธุกรรมภายในกลุ่มของสัตว์หรือครอบครัวเดียวกันลดลง เป็นประโยชน์มากสำหรับการสร้างสายพันธุ์แท้ใหม่ๆ หรือต้องการที่จะให้คงลักษณะของสายพันธุ์นั้นให้เหมือนเดิมไปตลอด เพราะการผสมเลือดชิดจะทำให้เกิดความสม่ำเสมอทางพันธุกรรม คล้ายกับการทำสำเนา ลูกสุนัขที่เกิดจากการผสมเลือดชิดจะมีลักษณะไม่ต่างจากพ่อและแม่
การผสมเลือดชิดเป็นการเพิ่มโอกาสที่ยีนจะอยู่ในสภาพที่เหมือนกัน (homozygosity) มากขึ้น ซึ่งหากเป็นการเข้าคู่กันในลักษณะของยีนที่เป็นคู่เหมือนที่ดีก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นลักษณะที่เราต้องการ แต่ในโลกของความเป็นจริง มันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะก็มีโอกาสเช่นกัน ที่ยีนไม่ดีจะมาจับคู่กัน ซึ่งทำให้เกิดผลเสียและอันตรายต่างๆ ตามมา
อันตรายของการผสมเลือดชิด
การผสมเลือดชิด จะเพิ่มโอกาสในการแสดงลักษณะของยีนด้อยในประชากรมากขึ้นเนื่องจากเกิดความเสื่อมจากการเข้าคู่กันของยีนคู่เหมือนที่เป็นยีนด้อยดังกล่าว ลูกสุนัขที่เกิดมา อาจมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางแย่ลง คล้ายการทำสำเนาต่อไปเรื่อยๆ ความคมชัดก็จะไม่เหมือนกับต้นฉบับ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อน้องหมาในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
อันตรายต่อร่างกาย
สุนัขที่เกิดจากการผสมเลือดชิด อาจมีลักษณะโครงสร้างร่างกายที่ผิดปกติแต่กำเนิด พบว่าอัตราการเจริญเติบโตจะลดลง (โตช้า) แคระแกร็น มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เกิดความพิการต่างๆ เช่น ขายาวไม่เท่ากัน หูยาวไม่เท่ากัน หางกุด ปากแหว่ง เพดานโหว่ ตาทั้งสองข้างอาจมีขนาดไม่เท่ากันหรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม มีหัวใจพิการแต่กำเนิด ฯลฯ ลูกสุนัขจะมีโอกาสเสียชีวิตได้ตั้งแต่แรกเกิด หรืออาจแท้งไปตั้งแต่อยู่ในท้อง
อันตรายต่อสุขภาพ
ปัญหาทางสุขภาพเป็นผลมาจากร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ สุนัขที่เกิดจากการผสมเลือดชิดมักจะไม่แข็งแรง เจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดโรคง่าย และรักษาให้หายขาดยาก เป็นโรคประจำพันธุ์ตั้งแต่อายุยังน้อย โรคที่มักพบในสุนัขที่เกิดจากการผสมเลือดชิด ได้แก่ โรคข้อสะโพกเสื่อม โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ โรคลมชัก โรคที่มีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง ฯลฯ ผู้เพาะพันธุ์ที่ขาดความเข้าใจบางราย นิยมที่จะให้สุนัขผสมเลือดชิดเพื่อต้องการรักษามาตรฐานสายพันธุ์และคงลักษณะที่ดีภายนอกของพ่อแม่เอาไว้ แต่กลับทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพภายในร่างกายตามมา อย่างเช่น เกิดปัญหาเรืองตา ข้อสะโพก กระดูกสันหลัง และการหายใจในสุนัขพันธุ์ปั๊ก เกิดปัญหาหัวกะโหลกโต ทำให้ไม่สามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติ ต้องช่วยผ่าคลอดในสุนัขพันธุ์บลูด็อก หรือเกิดโรคข้อสะโพกเสื่อมในสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ เป็นต้น
อันตรายต่อพฤติกรรม
อิทธิพลที่มีผลต่อพฤติกรรมของน้องหมาประกอบขึ้นจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ และพันธุกรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการผสมเลือดชิดส่งผลโดยตรงต่อพันธุกรรม และอาจมีส่วนก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ก้าวร้าว ชอบไล่งับ ชอบวิ่งไล่รถหรือสัตว์ตัวอื่นๆ ชอบเล่นแรงๆ และเป็นสุนัขที่ไม่ฉลาดฝึกให้เข้าใจคำสั่งได้ยาก การเพาะพันธุ์สุนัขที่ประสบความสำเร็จ นอกจากจะได้ลูกสุนัขที่มีลักษณะร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงแล้ว เราควรต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพของจิตใจหรืออารมณ์ ด้วย
ปัจจุบันผู้เพาะพันธุ์สุนัขส่วนใหญ่จึงหลีกเลี่ยงการผสมเลือดชิด เพราะว่าได้ไม่คุ้มเสีย จึงหันไปผสมแบบในสายเลือด (Line breeding) แทน ซึ่งเป็นการผสมสุนัขสายพันธุ์เดียวกัน แต่เป็นคนละเครือญาติกัน หรือเลือกที่จะผสมแบบต่างสายเลือดกันไปเลย เพื่อให้ได้มั่นใจว่าได้สุนัขที่มีสุขภาพแข็งแรง
แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีผู้เพาะพันธุ์บางราย ที่ขาดความเข้าใจหวังผลทางลัด เลือกที่จะผสมพันธุ์แบบเลือดชิดอยู่ ซึ่งอาจได้ผลดีในช่วงแรกๆ เพราะลูกสุนัขที่เกิดมาจะมีลักษณะเด่นที่เหมือนพ่อหรือแม่ที่มีสายเลือดเดียวกัน แต่เนื่องจากขาดความหลายหลายทางพันธุกรรม ในอนาคตจึงทำให้ลูกสุนัขรุ่นถัดไปอ่อนแอลง
ดังนั้น หากต้องการจะซื้อหรือรับสุนัขมาเลี้ยง เราควรศึกษาใบเพ็ดดีกรี ดูประวัติการผสมให้ดี ว่าสุนัขตัวนั้นเป็นลูกที่เกิดจากการผสมเลือดชิดในเครือญาติเดียวกันหรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการได้สุนัขที่ไม่แข็งแรง ซึ่งอาจเกิดปัญหาตามมาภายหลัง และที่สำคัญหากเพื่อนๆ เลี้ยงสุนัขรวมกันไว้หลายตัว แล้วแต่ละตัวมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตเดียวกัน แบบนี้เราต้องไม่ปล่อยให้เค้ามีอะไรกันเอง ควรแยกเลี้ยงในระยะที่สุนัขเพศเมียกำลังเป็นสัด หรือพาสุนัขไปผ่าตัดทำหมัน เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์ไปเลยจะเป็นการดีที่สุดครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
เอกสารคำสอนรายวิชา การปรับปรุงพันธุ์สัตว์
อ. น.สพ. ชาตรี คติวรเวช
ภาควิชาสัตวบาล คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.dogbreedinfo.com/inbreeding.htm
http://www.ehow.com/list_5911987_signs-dog-inbreeding.html
http://www.ehow.com/info_8618544_inbred-pitbulls.html
http://www.vetinfo.com/problems-with-inbreeding-dogs.html
http://www.dogfunpark.com/forum/index.php?topic=166.0
รูปภาพประกอบ:
www.guidedogsvictoria.com.au
www.ranthambhorediary.blogspot.com
www.wolf--roleplay.webs.com
www.goodreads.com
www.zoorium.com
www.leospetcare.com
www.dogsense.uk.com
www.news.yahoo.com |