ลืมรหัสผ่าน
 สมัครสมาชิก
ค้นหา

อาหาร สำหรับสุนัขโรคไต แนะนำโภชนาการที่เหมาะสำหรับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไต

[คัดลอกลิงก์]
เสื้อหมา เสื้อแมว รถเข็นหมา รถเข็นแมว

สูตรอาหารสุนัขที่ป่วยโรคไต
    

ทำความรู้จักกับโรคไตวายเรื้อรังในสุนัขกันก่อน

รคไตวายเรื้อรังในสุนัข (Chronic Renal failure) เกิดจากการสูญเสียการทำหน้าที่ของไต ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในสุนัขสูงวัย พบได้ตั้งแต่อายุ 6.5 ปีขึ้นไป เกิดจากความเสื่อมของไตไปตามวัย ในรายที่เป็นแบบเรื้อรังส่วนใหญ่จะไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ เนื่องจากไตได้สูญเสียการทำหน้าที่ไปมากกว่า 75 % แล้ว ต่างจากไตวายแบบเฉียบพลันที่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้

สาเหตุของไตวายในสุนัขมีได้หลายสาเหตุ หากจะแบ่งสาเหตุใหญ่ๆ ออกได้เป็น 3 สาเหตุหลัก คือ สาเหตุจากการที่เลือดไหลมาเลี้ยงไตลดลง ภาวะช๊อก ความล้มเหลวของการไหลเวียนโลหิต หรือการเสียเลือด เรียกว่า Pre-renal function สาเหตุที่สองเกิดจากความผิดปกติที่ตัวของไตเองทำให้สูญเสียหน้าที่การทำงานไป เรียกว่า Renal function และสุดท้ายเกิดจากการอุดตันการไหลเวียนของระบบปัสสาวะส่วนท้าย เรียกว่า Post-renal Function
     

เมื่อไตสูญเสียการทำหน้าที่ สิ่งที่ตามมาก็คือ มีการสะสมของของเสียในร่างกาย ทำให้น้องหมาแสดงอาการต่างๆ ออกมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ซึม ไม่กินอาหาร เยื่อเมือกซีด มีแผลในช่องปาก มีกลิ่นปากรุนแรง กินน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย อุจจาระออกมามีสีดำหรือเป็นเลือดสด ฯลฯ ไตซึ่งมีหน้าที่ควบคุมสมดุลกรด-เบสและรักษาสมดุลแร่ธาตุต่างๆ ในร่างกาย ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ร่างกายสูญเสียสมดุลของแร่ธาตุต่างๆ และเกิดภาวะความเป็นกรดขึ้นในร่างกาย (Metabolic acidosis) ได้ นอกจากนี้ไตยังสูญเสียหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนบางอย่าง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และการควบคุมความดันโลหิตผิดปกติไปด้วย

ในการรักษาคุณหมอจำเป็นต้องปรับสภาพสุนัขที่ป่วย ด้วยการให้สารน้ำ (น้ำเกลือ) โดยมุ่งเน้นในการแก้ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) และช่วยในการขับของเสียออกมาจากร่างกาย โดยการรักษาจะเป็นไปในแบบการประคับประคองอาการ เพื่อให้สัตว์ได้ปรับสภาพจนกว่าของเสียในร่างกายจะลดลง ร่างกายสามารถกลับมาอยู่ในภาวะสมดุลตามเดิม และสุนัขกลับมามีอาการดีขึ้น


อาหารเข้ามามีบทบาทกับโรคไตวายเรื้อรังในสุนัขได้อย่างไร

การปรับอาหารสำหรับสุนัขที่ป่วยถือว่ามีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคไตวายแบบเรื้อรังเป็นอย่างมาก เพราะโรคนี้เป็นแล้วรักษาไม่หาย มีแต่จะแย่ลงไปเรื่อยๆ อาหารสำหรับโรคไตวายจึงมีส่วนช่วยในการชะลอการดำเนินไปของโรค มีส่วนช่วยยืดอายุของสุนัขที่ป่วย ช่วยลดของเสียในร่างกาย ช่วยให้ไตทำงานได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ควบคุมไม่ให้สุนัขที่ป่วย แสดงอาการรุนแรงมากขึ้นตามมา และที่สำคัญคือ อาหารยังเป็นแหล่งพลังงาน สารอาหาร วิตามิน และแร่ธาติต่างๆ ให้กับสุนัขป่วยได้ใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อต่อสู่กับโรคได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

     

ต้องขอขอบคุณคุณหมอ Mark L. Morris ที่ได้นำเอาศาสตร์ทางด้านโภชนาการเข้ามาจัดการกับสัตว์ป่วยโรคไตวายเรื้อรังตั้งแต่ ค.ศ. 1943 โดยทดลองใช้กับสุนัขนำทางชายตาบอดที่ชื่อ Buddy ซึ่งป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังเป็นรายแรกของโลก นับตั้งแต่นั้นมาอาหารจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการรักษาโรคในสุนัข ปัจจุบันมีอาหารสำหรับสุนัขป่วยโรคไตวายออกมาหลายรูปแบบ หลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อก็มุ่งเน้นในทางเดียวกัน คือ การจำกัดปริมาณโปรตีนและฟอสฟอรัส เสริมวิตามินและแร่ธาตุที่ขาด รวมถึงเสริมสารอาหารที่ช่วยให้การทำงานของไตดีขึ้น ซึ่งอาหารสำหรับสุนัขที่ป่วยด้วยโรคไตวายควรมีลักษณะดังนี้ครับ

1 อาหารโรคไตวายควรมีระดับโปรตีนต่ำ เพื่อลดของเสียจากไนโตรเจน (nitrogenous wastes product) ที่จะสะสมในร่างกาย โดยการลดปริมาณของกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นลง เนื่องจากร่างกายสามารถสังเคราะได้เองอยู่แล้ว โดยทั่วไปสุนัขมีความต้องการโปรตีนวันละ 1.33 กรัม/กก. แหล่งของโปรตีนที่ดีสำหรับโรคไตวาย คือ ไข่ขาว เนื้อปลาน้ำจืด และเนื้อบดติดมันมากกว่า 1 ใน 4 ส่วน
2  อาหารโรคไตวายควรมีระดับฟอสฟอรัสต่ำ เพราะสุนัขที่เป็นโรคจะมีฟอสฟอรัสในกระแสเลือดปริมาณสูง (hyperphosphatemia) นอกจากการลดระดับฟอสฟอรัสในอาหารแล้ว เราอาจใช้วิธีเสริมตัวจับฟอสฟอรัสในลำไส้ เพื่อลดการดูดซึมฟอสฟอรัสเข้าสู่ร่างกายอีกทางหนึ่งร่วมด้วยก็ได้
     

3 อาหารโรคไตวายควรมีระดับโซเดียมที่ต่ำ อย่างที่เราเคยได้ยินมาว่า “เป็นโรคไต ไม่ควรกินเค็ม” นั่นแระ ปกติร่างกายต้องการโซเดียม 0.3-1.5 กรัมของโซเดียม/1000 กิโลแคลอรี่ ปริมาณเท่านี้ไม่ส่งผลต่อการทำงานของไตในสุนัข การกินอาหารที่มีโซเดียมต่ำยังเหมาะกับรายที่มีความดันโลหิตสูงอยู่แล้วด้วย
4 เมื่อป่วยด้วยโรคไตวายร่างกายจะสูญเสียโพแทสเซียมออกมากับปัสสาวะจำนวนมาก ดังนั้นควรประเมินระดับโพแทสเซียมในเลือดอยู่เป็นระยะๆ หากต่ำ เราสามารถเสริมด้วยการป้อนโพแทสเซียมกลูโคเนต (potassium gluconate) หรือ โพแทสเซียมครอไลด์ (potassium chloride) อย่างไรก็ดี การเสริมโพแทสเซียมควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน
5 เมื่อป่วยด้วยโรคไตวายร่างกายจะขาดวิตามินที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ โดยสูญเสียออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ร่วมถึงขาดวิตามินดี 3 ในรูปที่พร้อมออกฤทธิ์ด้วย เพราะไตไม่สามารถเปลี่ยนวิตามินดี 3 ออกมาใช้ได้เพียงพอ อาหารโรคไตวายจึงจำเป็นต้องเสริมวิตามินเหล่านี้ รวมถึงเสริมวิตามินที่ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ อย่างวิตามินอีและวิตามินซีด้วย
6 อาหารโรคไตวายจะเสริมสารจำพวกโซเดียมไบคาร์บอเนท แคลเซียมคาร์บอเนท หรือโพแทสเซียมซิเตรท เพื่อเพิ่มความเป็นเบสให้ร่างกายมากขึ้น เพื่อปรับสมดุลของกรด-เบสในร่างกายให้กลับมาคงเดิม เนื่องจากสุนัขป่วยทีเป็นโรคไตวายจะเกิดภาวะความเป็นกรด (Metabolic acidosis) ในร่างกายได้ง่าย
     

7 อาหารโรคไตวายจะมีการเสริมกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 จากน้ำมันปลาและกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 6 จากน้ำมันดอกคำฝอย ซึ่งสามารถช่วยลดการอักเสบและเพิ่มประสิทธิภาพการกรองของหน่วยไตให้ดีขึ้นได้
8 อาหารโรคไตวายจะมีการเสริมไฟเบอร์ (ใยอาหาร) ซึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องกระตุ้นการขับถ่ายและมีผลดีต่อสุขภาพของลำไส้ การใช้ไฟเบอร์เป็นแหล่งพลังงาน สามารถช่วยลดปริมาณโปรตีนในอาหารลงได้ ซึ่งเป็นการลดของเสียที่จะตามมาได้อีกทางหนึ่ง
9 การเสริมสารต้านอนุมูลอิสระมีผลช่วยชะลอความเสี่ยมของไต นอกจากวิตามินอีและวิตามินซีที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีการเสริมสารสีแคโรทีนอยด์ กรดอะมิโนทอร์รีน สาร polyphenols และสาร Flavanols ในอาหารโรคไตวายด้วย
10 ความต้องการพลังงานของสัตว์ป่วยโรคไตวาย มีความต้องการเช่นเดียวกับสุนัขที่มีสุขภาพปกติ ซึ่งความต้องการพลังงานของสุนัขแต่ละตัวก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวและค่าคะแนนสัดส่วนของรูปร่าง (body condition score) ของตัวนั้นๆ แต่เนื่องจากอาหารโรคไตวาย จำเป็นต้องจำกัดปริมาณของโปรตีน จึงเพิ่มปริมาณไขมันและคาร์โบไฮเดรตมากขึ้นแทน โดยสัดส่วนของแหล่งพลังงานของอาหารโรคไตวายจะมาจากไขมัน 36-40 % คาร์โบไฮเดรต 44-48 % และโปรตีนแค่เพียง 12-18 % เท่านั้น
11 อาหารที่ไม่ควรให้สุนัขที่ป่วยโรคไตวายกิน ได้แก่ เนื้อแดงล้วน เนื้อปลาทะเล ไข่แดงล้วน ตับและเครื่องใน นมและผลิตภัณฑ์จากนม กระดูกและน้ำต้มกระดูก เครื่องปรุงรสเค็ม และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ที่ไม่ใช่สูตรสำหรับสัตว์ป่วยโรคไตวาย


สูตรอาหารสำหรับสุนัขป่วยไตวาย ที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน
จากข้อมูลข้างต้นอาจจะดูยุ่งยากสักหน่อยสำหรับบ้านที่ปรุงอาหารให้สุนัขกินเอง แต่การจัดสูตรอาหารใช้ตรงกับโภชนาการของโรคเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้ มุมหมอหมา จึงมีสูตรอาหารสำหรับสุนัขที่ป่วยด้วยโรคไตวายมาแนะนำ ลองทำเองดูที่บ้านนะครับ

สูตรแรก : 1. เนื้อวัวสับ (ไขมัน 20 %) ปริมาณ 250 กรัม
2. มันฝรั่งบด ปริมาณ 700 กรัม
3. Rapeseed oil*** ปริมาณ 50 กรัม

     


หมายเหตุ อาหารสูตรนี้ให้พลังงาน 1,550 กิโลแคลลอรี่/อาหาร 1,000 กรัม หากสุนัขมีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม จะต้องให้กินอาหารสูตรนี้ วันละ 470 กรัม

สูตรที่สอง : 1. เนื้อหัวไหล่หมูพร้อมหนัง ปริมาณ 125 กรัม
2. ไข่ไก่ ปริมาณ 125 กรัม
3. ข้าวสุก ปริมาณ 730 กรัม
4. Rapeseed oil*** ปริมาณ 20 กรัม

    


หมายเหตุ อาหารสูตรนี้ให้พลังงาน 1,520 กิโลแคลลอรี่/อาหาร 1,000 กรัม หากสุนัขมีน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัมจะต้องให้กินอาหารสูตรนี้วันละ 480 กรัม


*** Rapeseed oil (canola oil) คือ น้ำมันจากดอกไม้ Rapeseed เป็นดอกไม้สีเหลืองในกลุ่มเดียวกับ mustard
     


สูตรที่สาม : 1. ไข่ไก่ 1 ฟอง
2. ข้าวสวย 2 ถ้วย
3. ไขมันไก่ 1 ช้อนโต๊ะ
4. แคลเซียมคาร์บอเนท 1.5 เม็ด (60-100 มก./กก./วัน)
5. วิตามินรวม 0.5 เม็ด

หมายเหตุ อาหารสูตรนี้จะได้พลังงานทั้งสิ้น 721 กิโลแคลลอรี่ เหมาะกับสุนัขหนัก 10.45 กิโลกรัม

  ในการปรับอาหาร แนะนำให้เริ่มปรับตั้งแต่ตรวจพบความผิดปกติของโรค สำหรับเจ้าของที่เลือกใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์ป่วยโรคไตวายอยู่แล้ว และอยากจะเพิ่มความน่ากินโดยการผสมอาหารอื่นๆ ที่สุนัขชื่นชอบเข้าไปด้วย อันที่จริงไม่แนะนำให้ทำ เพราะเราต้องการควบคุมอาหารให้เหมาะสมกับโรคที่สุนัขเป็น แต่อาจใช้กลิ่นจากอาหารที่สุนัขชื่นชอบใส่เข้าไป เพื่อเพิ่มความน่ากินได้ การอุ่นอาหารก่อนที่จะให้น้องหมากิน สามารถช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของน้องหมาได้ ส่วนจะใช้รูปแบบกระป๋องหรือรูปแบบเม็ดก็ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของสุนัขและความสะดวกของเจ้าของ ในแบบกระป๋องจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ช่วยในรายที่มีภาวะขาดน้ำได้ดี
     

  อย่างที่ผมได้กล่าวไปว่าโรคไตวายเรื้อรังรักษาไม่หาย การตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ตอนที่สุนัขยังไม่แสดงอาการทางคลินิก จะช่วยให้เราสามารถหาทางป้องกันไม่ให้โรคพัฒนาไปสู่ระยะสุดท้ายได้เร็วขึ้นได้ อาหารถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากสำหรับโรคนี้ ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากแนะนำให้เจ้าของปรับอาหารให้สุนัขตั้งแต่ช่วงเข้าสู่วัยชรา (อายุ 6.5 ปีขึ้นไป) เพื่อเป็นการรับมือกับความเสื่อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราไม่ควรรอให้เกิดโรคขึ้นแล้ว ค่อยหันมาใส่ใจกับเรื่องของอาหาร ปัจจุบันมีอาหารสำหรับสุนัขแก่โดยเฉพาะ เพื่อนๆ ที่สนใจสามารถปรึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติมกับคุณหมอผู้ดูแลก่อนได้ครับ

ศาสตร์ด้านโภชนาการสำหรับโรคภัยไข้เจ็บในสุนัขยังมีอีกมาก สัปดาห์หน้าจะเป็นอาหารเกี่ยวกับโรคใดนั้นติดตามอ่านกันต่อได้ใน มุมหมอหมา เช่นเคยครับ



บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
family.dogilike.com/tonvet/

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
D. Elliott and H. Lefebvre. 2008. Chronic Renal Disease:The Importance of Nutrition. Encyclopedia of Canine Clinical Nutrition
ivis.org/advances/rc/toc.asp
น.สพ.วิจักษณ์ หวงวงษ์


รูปภาพประกอบ:
รูปภาพที่ 1,3,5 และ 8
www.dogcancerblog.com
www.hillspet.com
www.davitadiets.wordpress.com
www.public-domain-image.com
รูปภาพที่ 2,4,6-7,9
www.ivis.org/advances/rc/toc.asp
8ee0e99582811e0e112362e69e84a74a.jpg
CRF003.jpg
CRF004.jpg
CRF005.jpg
CRF006.jpg
CRF007.jpg
CRF008.jpg
CRF010.jpg
CRF011.jpg
loading...
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

รายละเอียดเครดิต


โทรศัพท์มือถือ|รายชื่อผู้ถูกระงับบัญชี|dogthailand.net

แนะนำที่พัก โรงแรม รีสอร์ท สัตว์เลี้ยงเข้าพักได้ ทั่วประเทศ

GMT+7, 2024-11-21 18:35 , Processed in 0.078735 second(s), 21 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.8

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้