ลืมรหัสผ่าน
 สมัครสมาชิก
ค้นหา

เลี้ยงลูกสุนัข สุนัขเด็ก การบำรุงเลี้ยงลูกสุนัขอายุ 22-60 วัน สอนเลี้ยงอย่างละเอียด

[คัดลอกลิงก์]
เสื้อหมา เสื้อแมว รถเข็นหมา รถเข็นแมว


     

สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยงสุนัข น้องหมา อยากเลี้ยงเรามา ลองอ่านกันว่าวิธีเลี้ยงดู น้องหมาอายุน้อยๆ กันอย่างไรให้แข็งแรง และปลอดภัย สุขภาพสมบูรณ์ มาอ่านกัน
ลูกสุนัขเติบโตมาถึงวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากการเป็นลูกอ่อนขึ้นมา มีปฏิกิริยาต่ออารมณ์ที่รู้สึก เช่น จะยกขาเกาเมื่อเกิดอาการคัน, รู้จักการได้กลิ่นและคลานหาอาหาร, หาที่สงบในการพักผ่อน, มีการหยอกล้อเล่นกันในหมู่พี่น้องร่วมครอก, มีการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย ลูกสุนัขในช่วงอายุ 22-60 วันก็ย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการบำรุงเลี้ยงดู

มีการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของลูกสุนัขเช่นกัน อาจแบ่งแยกได้ตามหัวข้อดังนี้
1. ด้านอาหาร
ในอายุ 22-42 วัน ควรเลี้ยงลูกสุนัขด้วยอาหารเหลว และอายุ 42-60 วัน จึงควรให้อาหารหนักได้

อาหารเหลว เป็นอาหารสุนัขชนิดหนึ่งที่ถูกดูดซึมไปย่อยง่าย มีคุณค่าโปรตีนและวิตามินสูง มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการบำรุงเลี้ยงร่างกายลูกสุนัขให้สมบูรณ์ ลูกสุนัขจะเลียกินอาหารเหลวได้ดี เพราะในช่วงอายุ 22 วันนี้ ลูกสุนัขยังไม่มีฟันขึ้นครบที่จะกัดและเคี้ยวอาหารเป็นชิ้นได้ แต่ลูกสุนัขจะเริ่มมีฟันค่อยๆขึ้นในช่วงอายุนี้นั่นเอง (ฟันหน้าและเขี้ยวจะขึ้นเมื่ออายุ 42-60 วัน) ดังนั้น ช่วงอายุ 22-42 วันนี้จึงควรให้อาหารเหลว

องค์ประกอบของอาหารเหลว สามารถทำได้หลายแบบ แต่ละแบบผู้เลี้ยงอาจเป็นผู้กำหนด โดยให้ส่วนผสมที่คำนวณออกมาว่าจะได้คุณค่าอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกสุนัขอย่างครบถ้วน ซึ่งต่างก็ให้ผลดีต่อการเลี้ยงลูกสุนัขทั้งสิ้น ส่วนในที่นี้จะขอยกมาเสนอเป็นตัวอย่างเพียงแบบหนึ่ง อาหารเหลวแบบนี้ประกอบด้วยส่วนต่างๆดังนี้

ตับสุกบดละเอียด – ใช้ตับวัว ตับหมู หรือตับไก่ก็ได้ ต้มให้สุกแล้วบดให้ละเอียด ปริมาณ 1 ส่วน
ข้าวสวย – ใช้นมผงนึ่งสุกมาบี้ให้เละ ปริมาณ 1 ส่วน
นมผง – ใช้นมผงของเด็กเล็กทั่วไปหรือนมผงของลูกสุนัข ปริมาณ 2 ส่วน
ไข่แดง – ใช้เฉพาะไข่แดงของไข่ไก่หรือไข่เป็ด ต้มสุกบดละเอียด ปริมาณ 1 ส่วน
การผสม – จากที่ได้เตรียมส่วนประกอบทั้ง 4 ชนิดแล้ว ให้นำมาผสมคลุกเค้าให้เข้ากัน ใส่น้ำร้อนต้มสุกลงไปให้ได้อาหารเหลวพอเหมาะ จากนั้นเพิ่มวิตามินเกลือแร่ลงไปได้บ้าง เช่น น้ำมันตับปลาหรือวิตามินรวมแบบน้ำสำหรับเด็กลงไปเล็กน้อย เท่านี้ก็ได้อาหารเหลวที่มีคุณค่าต่อการบำรุงลูกสุนัข


เวลาการให้คือ ให้วันละ 1 มื้อก่อน จะให้มื้อเช้าหรือมื้อเย็นก็ได้ แต่ควรให้เวลานั้นประจำ และจะเพิ่มเป็นวันละ 2 มื้อ คือมื้อเช้าและเย็น ในอาทิตย์ต่อมา ในการให้อาหารเหลวนี้ ผู้เลี้ยงจะต้องควบคุมดูแลใกล้ชิดสักนิด เพราะลูกสุนัขอาจยังไม่ชินกับการกินอาหารได้เอง ลูกสุนัขจะใช้เท้าหน้าเหยียบย่ำลงไปในชามข้าว ทำให้ตัวเปรอะเปื้อน ฉะนั้นเมื่อลูกสุนัขกินเสร็จจึงเป็นหน้าที่ของผู้เลี้ยงที่ต้องเช็ดตัวให้ลูกสุนัขด้วยทุกครั้ง

ชามข้าวของลูกสุนัขที่เหมาะสมคือ ถาดวงกลม ขนาดใหญ่หรือเล็กนั้นอยู่ที่จำนวนของลูกสุนัขในครอก การฝึกนิสัยให้ลูกสุนัขกินเก่งและกินเร็ว ควรแบ่งการกินอาหารเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-5 ตัว ลูกสุนัขจะรู้จักแย่งกันกินทำให้กินอาหารได้เยอะและกินเร็ว

อาหารที่เหลือไม่ควรทิ้งไว้หรือเก็บไปถึงวันถัดไป ควรทำอาหารสดใหม่ทุกวัน ลูกสุนัขจะได้ไม่เสี่ยงต่ออาการท้องเสีย

อาหารหนัก คืออาหารหลักที่ใช้บำรุงเลี้ยงสุนัข จะเริ่มใช้เมื่อลูกสุนัขอายุย่างเข้า 42 วันไปจนโตตลอดไป ในปัจจุบันนิยมให้อาหารสำเร็จรูปเป็นอาหารหลักเลี้ยงสุนัข หรือบางบ้านอาจยังปรุงอาหารสดสูตรดั้งเดิมก็ได้ ลองมาดูความแตกต่างของอาหารหลัก 2 แบบนี้กัน

อาหารสำเร็จรูป เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้เลี้ยงที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วไม่ยุ่งยากและได้สารอาหารวิตามินครบ ต้องเลือกให้ถูกสูตรของอายุสุนัขด้วย สำหรับอาหารสำเร็จรูปในสูตรของลูกสุนัข ผู้เลี้ยงควรอ่านข้างถุงว่ามีโปรตีนกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะโปรตีนเป็นส่วนสำคัญที่ลูกสุนัขต้องการโปรตีนไปเสริมสร้างร่างกายที่กำลังจะเจริญเติบโต โปรตีนในอาหารสำเร็จรูปของลูกสุนัขจึงควรมีไม่ต่ำกว่า 26% และถ้าเป็นอาหารสำเร็จรูปในเกรดพรีเมียม ส่วนมากจะมีโปรตีนสูงถึง 30% ขึ้นไป และมีวิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับลูกสุนัข อัตราปริมาณการให้อาหารจะอยู่ที่ข้างถุงอาหารแต่ละยี่ห้อ แต่การจะเปลี่ยนอาหารหรือเปลี่ยนยี่ห้อ ผู้เลี้ยงต้องค่อยๆเปลี่ยน โดยเอาอาหารสูตรเดิมผสมกับอาหารสูตรใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงอาหารใหม่เลยทีเดียว อาจทำให้ลูกสุนัขไม่กินอาหารชนิดใหม่ หรืออาจถ่ายไม่ปกติได้

ตัวอย่างสูตรอาหารสด


เนื้อสุกบด – เนื้อ เศษเนื้อ เครื่องใน ตับ หรือจะหมู ไก่ ต้มให้สุกแล้วสับให้ละเอียด ปริมาณ 1 ส่วน
ข้าวสวย – ข้าวสวยสุดไม่ต้องบด ปริมาณ 1 ส่วน
ไข่ต้ม – ไข่ไก่ หรือไข่เป็ด ต้มสุก ใช้ได้ทั้งไข่ขาวและไข่แดง สับละเอียด ปริมาณ 1 ส่วน
ผักสับ – ผักต่างๆล้วนมีวิตามินแร่ธาตุและมีคุณประโยชน์ ฉะนั้นจึงใช้ผักสดลวกหรือต้มสุกพอประมาณสับละเอียด ปริมาณครึ่งส่วน
การผสม – นำส่วนประกอบทั้ง 4 อย่างข้างต้นมาคลุกผสมกันโดยใส่น้ำซุปลงไปพอประมาณ เติมเกลือป่นนิดนึงเพื่อเพิ่มสารอาหารได้ ใส่วิตามินอื่นๆได้บ้าง เช่น น้ำมันตับปลา แคลเซียม วิตามินรวม ในปริมาณเล็กน้อยตามอัตราข้างฉลากของยาวิตามินนั้นๆ ดังนี้ ก็จะได้อาหารที่มีคุณค่าสูงสำหรับลูกสุนัขวัย 22-60 วัน


เวลาการให้อาหาร
– แบ่งเป็นวันละ 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น (กลางคืนยังคงให้กินนมจากแม่) หรือเมื่อลูกสุนัขอายุ 35 วันขึ้นไป หย่านมแม่แล้ว ก็ให้เพิ่มเป็นวันละ 4 มื้อ เช้า เที่ยง เย็น ค่ำ

ปริมาณการให้อาหาร - ปริมาณการให้อาหารอยู่ที่น้ำหนักตัวของลูกสุนัขกินมากหรือน้อยไม่เท่ากัน ลูกสุนัขบางตัวที่ตัวเล็กกว่าพี่น้องในครอกมักจะกินไม่ทันตัวที่ใหญ่และแข็งแรงกว่า ผู้เลี้ยงควรเอาใจใส่ให้ลูกสุนัขที่ตัวเล็กกว่าได้กินก่อนตัวอื่น หรือแยกกินตัวเดียว ผู้เลี้ยงจะเป็นผู้ดูแลให้ลูกสุนัขได้กินอาหารที่พอเหมาะแก่ร่างกาย ลูกสุนัขต้องไม่อ้วนเกินไปหรือผ่ายผอมเกินไป

นม – ยังคงเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์มาก นมเสริมสร้างให้ลูกสุนัขเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง ยังให้นมแก่ลูกสุนัขกินได้ตลอดในช่วงอายุนี้ อาจให้หลังกินอาหารของมื้อเช้าและเย็น หรือให้นมในเวลาก่อนนอนก็ได้


     

2. ด้านที่พักอาศัย

ลูกสุนัขมีการเติบโตขึ้นจึงควรจัดที่พักอาศัยหรือที่นอนสำหรับลูกสุนัขในช่วงอายุ 22-60 วัน ดังนี้

2.1 ขนาดของพื้นที่นอนควรขยายให้กว้างมากขึ้นตามความเหมาะสมของจำนวนลูกสุนัขในครอก ให้แม่สุนัขและลูกสุนัขสามารถเดินได้สะดวก ไม่คับแคบอึดอัด

2.2 ควรทำความสะอาดที่นอนทุกเช้าและเย็น เพราะลูกสุนัขโตขึ้นก็จะถ่ายอุจจาระมากขึ้น ที่สำคัญคือ แม่สุนัขจะไม่ช่วยเลียให้เหมือนเมื่อยังเป็นลูกสุนัขอ่อน ผู้เลี้ยงควรสังเกตอุจจาระของลูกสุนัขด้วยว่าปกติหรือไม่ ลักษณะมูลจะเป็นสิ่งในการวินิจฉัยสุขภาพลูกสุนัขได้

2.3 ควรจัดให้ที่พักอยู่ให้ที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ อากาศหมุนเวียนถ่ายเทสะดวก เนื่องจากบ้านเราเป็นเมืองร้อน ดังนั้น ถ้าอากาศร้อนจัดจะมีผลกระทบต่ออารมณ์ของลูกสุนัข อาจทำให้ลูกสุนัขเกิดอาการหอบ หงุดหงิด และกินอาหารได้น้อยลง ถ้าเลี้ยงลูกสุนัขในห้องแอร์ ก็ต้องระวังเรื่องอากาศที่หนาวเย็นเกินไป โดยเฉพาะลูกสุนัขที่ชอบนอนทับน้ำเปียกๆ มักจะทำให้ป่วยเป็นโรคปอดบวม หากเลี้ยงนอกบ้าน ควรระวังดูแลในช่วงฤดูฝน มีลมแรง ควรให้ลูกสุนัขนอนอยู่ที่ที่อบอุ่น

2.4 ลูกสุนัขอายุ 35 วันขึ้นไปที่กินอาหารหนักได้แล้ว ลูกสุนัขจะกินนมแม่จะน้อยลง ช่วงเวลากลางวันจึงควรแยกให้แม่สุนัขพัก และให้นมลูกสุนัขและนอนกับลูกสุนัขในเวลากลางคืน

     

3. เรื่องของการออกกำลัง

ลูกสุนัขจะเริ่มวิ่งเล่นและต้องการออกกำลังกายเมื่ออายุ 35 วันไปแล้ว สถานที่ที่ให้ลูกสุนัขได้ออกกำลังกาย อาจกั้นพื้นที่เป็นบริเวณกว้างพอประมาณ ขึ้นอยู่กับว่าลูกสุนัขนั้นเป็นสุนัขพันธุ์อะไร หรือแล้วแต่พื้นที่ที่เหมาะสมของแต่ละบ้าน พื้นของลานปล่อยนั้นอาจเป็นพื้นปูน พื้นไม้ พื้นดิน หรือสนามหญ้า สิ่งที่สำคัญของลานปล่อยคือความสะอาด ควรทำความสะอาดเสมอ ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ไม่เป็นอันตรายต่อลูกสุนัข เวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกสุนัขมาออกกำลังกายควรเป็นเวลาเช้าที่มีแสงแดดอ่อนๆ หรือในตอนเย็นที่แดดไม่ร้อนจัด ในครั้งแรกๆอาจปล่อยให้ออกกำลังกายประมาณ 15 นาที แล้วค่อยๆเพิ่มเวลาการปล่อยให้นานขึ้น

ช่วงที่ปล่อยให้ลูกสุนัขออกมาวิ่งออกกำลังกาย อาจใช้เครื่องมือช่วยให้ลูกสุนัขได้ออกกำลังกายมากขึ้น ได้แก่ ลูกบอล ลูกเทนนิส เชือกล่อ ให้ลูกสุนัขได้วิ่งไล่งับ คาบลูกเทนนิส ทั้งนี้จะเป็นการสอบคาบขั้นพื้นฐานให้ลูกสุนัขไปด้วย

4. เรื่องสุขภาพ

ในเรื่องสุขภาพของลูกสุนัขนั้นเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เลี้ยงจะต้องคอยสังเกตดูแลเอาใจใส่เพ่งเล็งเป็นพิเศษ ตรวจเช็กสุขภาพในเวลาที่คลุกคลีอยู่กับลูกสุนัข ดูความปกติทางด้านการกินอาหาร เดิน วิ่ง ความร่าเริง ลักษณะของมูลที่ถ่าย ความสมบูรณ์อ้วนท้วนของโครงสร้างร่างกาย ถ้ามีการชั่งน้ำหนักตัวลูกสุนัขและจดบันทึกการเพิ่มของน้ำหนักตัวในแต่ละวันก็จะทำให้เป็นข้อมูลที่เช็กถึงความเติบโตสมบูรณ์ของสุขภาพลูกสุนัขได้อย่างดี นอกจากนั้นผู้เลี้ยงสามารถตรวจสุขภาพของลูกสุนัขได้โดยดูจาก
- ตาจะต้องสดใส สะอาด ไม่มีฝ้าขาว
- ลักษณะจมูกที่เป็นมันชื้น ไม่แห้งผาด ถ้าจมูกของลูกสุนัขแห้งผาดนั่นคือลูกสุนัขของท่านกำลังป่วย
- สีของเหงือกและลิ้นเป็นสีสมพูสดใส ไม่ซีดขาว
- ฟันสีขาวสะอาด ถ้าฟันผุเหลืองแสดงว่าลูกสุนัขขาดสารอาหารแร่ธาตุวิตามิน หรือควรให้ลูกสุนัขได้กัดแทะกระดูกเทียมบ้างเพื่อขัดฟัน ทำให้เหงือกและฟันแข็งแรง
- ผิวหนังไม่มีตุ่มเม็ดผื่นแดง ผิวต้องไม่แห้งเป็นขุย ต้องมีผิวหนังสะอาดมีขนสวยเงางาม
- ผิวหนังบริเวณหน้าท้องเป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อน เรียบเกลี้ยงเกลา

ถ้าหากพบความผิดปกติและอยู่ในวิสัยที่ผู้เลี้ยงจะดูแลรักษาเองได้ก็ควรรีบจัดการรักษาทันที แต่ถ้าพบความผิดปกติมากกว่านั้นก็ควรปรึกษาสัตว์แพทย์ จะเป็นหน้าที่ของสัตว์แพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการและดำเนินการรักษาต่อไป


"สายรุ้ง"
ที่มา sairoongkennel.com
เกริ่นนำ https://www.dogthailand.net
8bbe8b9a2aa584d096795bc306e2ff5b.jpg
41030b8e01c0c2b7c9f8238bf52807dd.jpg
723291c673939c243d9ac78e32214fd5.jpg
loading...
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

รายละเอียดเครดิต


โทรศัพท์มือถือ|รายชื่อผู้ถูกระงับบัญชี|dogthailand.net

แนะนำที่พัก โรงแรม รีสอร์ท สัตว์เลี้ยงเข้าพักได้ ทั่วประเทศ

GMT+7, 2024-11-21 17:34 , Processed in 0.086514 second(s), 21 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.8

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้